ไปยังหน้า : |
จักขุปสาทรูปมีสภาพเป็นทวาร คือ ช่องทางการรับรู้รูปารมณ์ของจักขุทวารวิถีจิต ผู้เขียนจึงได้แสดงแผนผังและคำอธิบายรายละเอียดเกี่ยวกับการรับรู้รูปารมณ์ทางจักขุทวารวิถี ดังต่อไปนี้
คำอธิบายของผู้เขียน :
เมื่อรูปารมณ์ คือ สีต่าง ๆ ที่เป็นปัจจุบันในขณะนั้น มากระทบกับจักขุปสาทรูป ทำให้เกิดการกระเทือนถึงภวังคจิต ภวังคจิตในขณะนั้น เรียกว่า อตีตภวังค์ [ตี] แปลว่า ภวังค์เดิม ซึ่งเรียกในขณะที่มีอารมณ์ใหม่มาปรากฏทางทวารนั้นเท่านั้น [ถ้ายังไม่มีอารมณ์ใหม่มาปรากฏที่ทวาร ก็เรียกว่า ภวังคจิต เฉย ๆ] ต่อจากนั้น ภวังคจิตนั่นเองย่อมหวั่นไหวตอบสนองต่อรูปารมณ์นั้น เรียกว่า ภวังคจลนะ [น] และทำการตัดกระแสภวังค์ขาด คือ ทิ้งอารมณ์เก่า หรือหลีกตัวเองเพื่อให้วิถีจิตเกิดขึ้นรับรูปารมณ์นั้น เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ [ท] ภวังคจิตทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นจิตประเภทเดียวกันหรือดวงเดียวกันนั่นเอง เพียงแต่แปรสภาพไปตามลำดับในการตอบสนองต่ออารมณ์ ภวังคจิตทั้ง ๓ อย่างนี้ยังไม่ได้ทิ้งอารมณ์เก่าของตนได้ขาด จึงยังไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใหม่ที่มากระทบนั้นได้ เปรียบเหมือนบุคคลผู้กำลังทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ แล้วมีบุคคลอื่นมาเรียก เขารู้ถึงเสียงเรียกนั้นแล้ว แต่ยังไม่ได้ละจากการงานที่กำลังทำอยู่ และยังไม่ได้หันไปมองดูบุคคลผู้เรียกนั้น ข้อนี้ฉันใด ภวังคจิตทั้ง ๓ ชนิดนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์ใหม่ที่มากระทบในขณะนั้นก็ตาม แต่ยังตัดจากอารมณ์เก่าไม่ได้ จึงยังไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใหม่นั้นได้ เมื่อภวังค์คุปัจเฉทะดับลงแล้ว
ต่อจากนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต [ป] จึงเกิดขึ้นรับรูปารมณ์นั้นมา เปรียบเหมือนบุคคลผู้ยืนเฝ้าประตู คอยเปิดประตูให้บุคคลที่จะเข้าออกอย่างเคร่งครัด โดยไม่ได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลที่เข้าออกนั้นให้เสียการแต่ประการใด ข้อนี้ฉันใด ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ก็ฉันนั้น รับรูปารมณ์มาแล้วก็ไม่ได้ทำการพิจารณาไต่สวนให้รู้รายละเอียดของรูปารมณ์นั้นแต่อย่างใด เมื่อรับมาแล้วก็ส่งผ่านให้จิตดวงต่อไป คือ จักขุวิญญาณจิต
จักขุวิญญาณจิต [จักขุ] ก็รับรู้รูปารมณ์นั้นโดยความเป็นแต่เพียงสีและสัณฐานเท่านั้น ยังไม่ได้ไต่สวนพิจารณารูปารมณ์นั้นแต่อย่างใด ก็ดับลง
จิตดวงต่อมา คือ สัมปฏิจฉนจิต [ส] ย่อมเกิดขึ้นมารับรูปารมณ์นั้นแล้วส่งให้จิตดวงต่อไป คือ สันตีรณจิต โดยที่สัมปฏิจฉนจิตเองก็ยังไม่ได้ทำการพิจารณาไต่สวนให้รู้รายละเอียดของรูปารมณ์นั้นแต่อย่างใด
สันตีรณจิต [ณ] หน้าที่ในการไต่สวนรูปารมณ์นั้น เป็นหน้าที่ของสันตีรณจิต แต่สันตีรณจิตก็เพียงไต่สวนให้รู้รูปารมณ์นั้นโดยสภาพเป็นผลของกุศลหรือผลของอกุศลเท่านั้น เพราะสันตีรณจิตเองก็เป็นวิบากจิตซึ่งมีสภาพที่เป็นผลอันสุกงอมแล้ว ไม่มีความขวนขวายในการจัดแจงหรือปรุงแต่งให้เป็นอื่นแต่อย่างใด เพียงแต่เกิดขึ้นทำหน้าที่ตามสภาพของตนเท่านั้น กล่าวคือ ถ้ารูปารมณ์ปรากฏขึ้นด้วยอำนาจแห่งอกุศลวิบาก มีสภาพเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่ายินดี สันตีรณจิตที่ทำหน้าที่ไต่สวนรูปารมณ์นั้น ต้องเป็นอุเบกสันตีรณอกุศลวิบากจิตเท่านั้น ถ้ารูปารมณ์ปรากฏขึ้นด้วยอำนาจแห่งกุศลวิบาก มีสภาพเป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่ายินดี สันตีรณจิตที่เกิดขึ้นทำหน้าที่ไต่สวนรูปารมณ์นั้น ต้องเป็นสันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากจิต มี ๒ ดวง คือ ถ้ารูปารมณ์นั้นมีสภาพเป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่ายินดีระดับปานกลาง [น่ายินดีไม่มากนัก] ปรากฏขึ้น ย่อมเป็นหน้าที่ของอุเบกขาสันตีรณกุศลวิบากจิตเป็นผู้เกิดขึ้นไต่สวนพิจารณา ถ้ารูปารมณ์นั้นมีสภาพเป็นอติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่ายินดียิ่ง [น่ายินดีมาก] ปรากฏขึ้น ย่อมเป็นหน้าที่ของโสมนัสสันตีรณจิต เป็นผู้เกิดขึ้นไต่สวนพิจารณา ซึ่งล้วนแต่เป็นไปโดยสภาวะ ไม่มีผู้ใดมาจัดสรรหน้าที่ให้แต่ประการใด
ลำดับต่อจากนั้น จิตดวงต่อไป คือ โวฏฐัพพนจิต [โว] ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นอเหตุกกิริยาจิตดวงที่ ๒ ย่อมเกิดขึ้นทำการตัดสินรูปารมณ์นั้นตามสภาพที่สันตีรณจิตได้ไต่สวนพิจารณาแล้วว่า เป็นอิฏฐารมณ์หรือเป็นอนิฏฐารมณ์
ต่อจากนั้น จิตดวงที่ ๘ ถึงดวงที่ ๑๕ ได้แก่ ชวนจิต [ช] ย่อมเกิดขึ้นเสพรูปารมณ์นั้น โดยความเป็นกุศล อกุศล หรือกิริยา ตามสมควรแก่เหตุปัจจัย กล่าวคือ ถ้าเสพด้วยโยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นชวนจิตที่เป็นกุศล ถ้าเสพด้วยอโยนิโสมนสิการ ย่อมเป็นชวนจิตที่เป็นอกุศล ถ้าพระอรหันต์ท่านรับรู้หรือเสพ ย่อมเป็นชวนจิตที่เป็นกิริยาเท่านั้น จริงอยู่ ชวนจิตของพระอรหันต์นั้น ย่อมเป็นเพียงกิริยาจิตเท่านั้น เพราะท่านตัดกิเลสที่เป็นเหตุให้เกิดอกุศลกรรมได้หมดสิ้นแล้ว ด้วยเหตุนี้ ความเป็นอกุศลกรรมจึงไม่เกิดมีขึ้นในขันธสันดานของพระอรหันต์อีกเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านจึงไม่ต้องทำการงดเว้นหรือประหาณกิเลสอีก เมื่อสภาพแห่งอกุศลไม่เกิดขึ้นแล้ว ความเป็นกุศลกรรมซึ่งมีหน้าที่ในการประหาณอกุศลกรรมจึงไม่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะไม่มีอกุศลกรรมให้ประหาณอีกต่อไปแล้วนั่นเอง เพราะฉะนั้น สภาพความดีงามแห่งจิตของพระอรหันต์ที่ยังเป็นไปอยู่ จึงมีแต่สภาพที่เป็นกิริยาเท่านั้น ซึ่งเป็นสภาพความดีที่ไม่ให้ผลใด ๆ เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้วนั่นเอง
ต่อจากชวนจิตเสพรูปารมณ์ติดต่อกันครบ ๗ ขณะ [โดยมาก] แล้ว ถ้ารูปารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ยังมีอายุเหลืออยู่อีก ๒ ขณะจิต จิตที่ทำหน้าที่เสพรูปารมณ์ต่อจากชวนจิต ที่เรียกว่า เสพเศษอารมณ์ นั้น ได้แก่ ตทาลัมพนจิต [ต] ซึ่งเกิดขึ้นเสพรูปารมณ์นั้นต่ออีก ๒ ขณะ เมื่อนับตั้งแต่อตีตภวังค์เป็นต้นมาจนถึงตทาลัมพนจิต ๒ ดวงนี้ ก็ครบ ๑๗ ขณะพอดี ซึ่งเป็นอายุของนิปผันนรูปทั้งหลาย เพราะฉะนั้น อายุของรูปารมณ์ซึ่งเป็นนิปผันนรูปด้วย ก็สิ้นสุดลงพอดี
นี้หมายเอารูปารมณ์ที่มีสภาพปรากฏชัดเจน ที่เรียกว่า อติมหันตารมณ์ ถ้ารูปารมณ์นั้นปรากฏชัดพอประมาณ ที่เรียกว่า มหันตารมณ์ แล้ว ย่อมทำให้การตอบสนองของภวังคจิตช้าลง อตีตภวังค์ต้องเกิดขึ้นติดต่อกัน ๒-๓ ครั้ง จึงจะตอบสนองต่อรูปารมณ์นั้นได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิถีจิตย่อมจะร่นถอยไป ทำให้อายุของรูปารมณ์นั้นไปสิ้นสุดที่ชวนจิตดวงที่ ๗ พอดี แล้วก็ลงภวังค์ไป ถ้ารูปารมณ์ปรากฏไม่ชัด ที่เรียกว่า ปริตตารมณ์ อตีตภวังค์ต้องเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อรูปารมณ์นั้นตั้งแต่ ๔ ขณะ ถึง ๙ ขณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิถีจิตย่อมแล่นไปไม่ถึงชวนจิต เพราะอายุของรูปารมณ์ย่อมสิ้นสุดตรงโวฏฐัพพนจิตเท่านั้น จึงต้องลงสู่ภวังค์ไป แต่ถ้ารูปารมณ์นั้นปรากฏไม่ชัดเลย ปรากฏเพียงแผ่วเบา ที่เรียกว่า อติปริตตารมณ์ เท่านั้น ทำให้การตอบสนองต่อรูปารมณ์ของภวังคจิตนั้นเฉื่อยช้ามาก ไม่สามารถตัดกระแสภวังคจิตขาดเพื่อให้วิถีจิตเกิดขึ้นรับรูปารมณ์นั้นได้ อดีตภวังค์ต้องเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อรูปารมณ์นั้นตั้งแต่ ๑๐ ถึง ๑๖ ขณะ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิถีจิตย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นรับรูปารมณ์นั้นได้เลยแม้แต่ดวงเดียว มีแต่อตีตภวังค์ที่แปรสภาพเป็นภวังคจลนะเกิดขึ้นหวั่นไหวตอบสนองต่อรูปารมณ์นั้น ๒ ขณะ [วิถีสุดท้ายมี ๑ ขณะ] เท่านั้น ต่อจากนั้น จิตก็ลงสู่ภวังค์ต่อไป โดยไม่มีการรับรู้สภาวะแห่งรูปารมณ์นั้นแต่ประการใด
อนึ่ง กฏเกณฑ์ในการเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ของวิถีจิตนั้น จะต้องเป็นไปตามลำดับ ดังต่อไปนี้
อตีตภวังค์ [ตี] จะปรากฏสภาพขึ้นมาได้ ก็ต่อเมื่อมีอารมณ์มาปรากฏทางทวารนั้น ๆ แล้วเท่านั้น และอารมณ์นั้นจะต้องเป็นปัจจุบันนิปผันนรูปเท่านั้น [ถ้าเป็นอารมณ์นอกจากนี้ ย่อมไม่มีอตีตภวังค์เกิดขึ้น]
ภวังคจลนะ [น] จะแปรสภาพจากอตีตภวังค์มาเป็นภวังค์ไหวได้ ก็ต่อเมื่อ อตีตภวังค์ได้ผ่านไปแล้วเท่านั้น [ตามนัยนี้ หมายเอาเฉพาะวิถีจิตที่มีอารมณ์เป็นปัจจุบันนิปผันนรูปเท่านั้น ถ้ามีอารมณ์เป็นอย่างอื่น ภวังคจลนะก็จะปรากฏขึ้นทันทีที่อารมณ์มากระทบกับทวาร]
ภวังคุปัจเฉทะ [ท] จะทำการตัดกระแสภวังค์ขาดได้ ก็ต่อเมื่ออารมณ์นั้นปารากฏชัดพอที่วิถีจิตสามารถจะเกิดต่อไปได้บ้างเท่านั้น เมื่อภวังคจลนะทำการตอบสนองต่ออารมณ์ได้สำเร็จและอารมณ์นั้นยังมีอายุเหลืออยู่ ภวังค์คุปัจเฉทะนี้จึงเกิดขึ้นต่อไปได้
อาวัชชนะ [ป/ม] จะปรากฏขึ้นทำหน้าที่รับอารมณ์ที่ปรากฏนั้นมาสู่วิถีจิตได้ ก็ต่อเมื่อภวังคุปัจเฉทะได้กระทำการตัดอารมณ์เก่าของตนเสร็จเรียบร้อยแล้วเท่านั้น
ปัญจวิญญาณ [ทวิ] จะปรากฏขึ้นทำหน้าที่รับอารมณ์ทางทวารของตน ๆ ได้ ก็ต่อเมื่ออาวัชชนะได้เปิดประตูรับอารมณ์ใหม่มาสู่วิถีจิตแล้วเท่านั้น
สัมปฏิจฉนะ [ส] จะปรากฏขึ้นทำหน้าที่รับอารมณ์ต่อจากปัญจวิญญาณได้นั้น ก็ต่อเมื่อปัญจวิญญาณได้รับอารมณ์เรียบร้อยแล้วเท่านั้น
สันตีรณะ [ณ] จะปรากฏขึ้นทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ได้นั้น ก็ต่อเมื่อสัมปฏิจฉนะได้รับอารมณ์มาให้แล้วเท่านั้น
โวฏฐัพพนะ [โว] จะปรากฏขึ้นทำหน้าที่ตัดสินอารมณ์ได้นั้น ก็ต่อเมื่อสันตีรณะได้ทำการพิจารณาอารมณ์นั้นโดยความเป็นอิฏฐะหรืออนิฏฐะ ตามสภาพแห่งกุศลวิบากหรืออกุศลวิบากแล้วเท่านั้น
ชวนะ [ช] จะปรากฏขึ้นทำหน้าที่เสพอารมณ์โดยความเป็นกุศล อกุศล หรือกิริยาได้นั้น ก็ต่อเมื่อโวฏฐัพพนะได้ทำการตัดสินอารมณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอารมณ์นั้นจะต้องมีอายุเหลืออยู่อีกอย่างน้อยเท่ากับ ๗ ขณะจิต [ในเวลาปกติ หรือ ๓ ขณะ ๔ ขณะ ๕ ขณะ ๖ ขณะ ในเวลาไม่ปกติ หรือในกรณีพิเศษสำหรับบุคคลพิเศษ]
ตทาลัมพนะ [ต] จะปรากฏขึ้นทำหน้าที่ต่อจากชวนะได้นั้น ก็ต่อเมื่ออารมณ์นั้นเป็นกามอารมณ์ บุคคลนั้นเป็นกามบุคคล และอารมณ์นั้นเป็นอติมหันตารมณ์ คือ อารมณ์ที่ปรากฏชัดเจน [มีกำลังมาก] หรืออติวิภูตารมณ์ ทางมโนทวาร เมื่อชวนะเสพ ๗ ขณะแล้ว อายุของอารมณ์ยังเหลืออยู่อีกเท่ากับ ๒ ขณะจิตเท่านั้น
นี้เป็นกฏเกณฑ์ในการเกิดขึ้นของวิถีจิตตามลำดับ