| |
ลักษณะของบุคคลผู้หนักในวิตกจริต ๗ ประการ   |  

๑. ภัสสพหุลตา เป็นคนชอบพูดมากและดีแต่พูด แต่เวลาทำกิจการงานนั้น มักมีอาการจับจด ท้อแท้เบื่อหน่ายงานง่าย

๒. คณรามตา มีความยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่คณะอันก่อให้เกิดความมั่วสุมไร้ประโยชน์และเกิดความเกียจคร้านต่อการงานที่ดีงาม

๓. กุสลานุโยเค อรติ ไม่ยินดีในการประกอบกุศล ยินดีแต่ในการประกอบอกุศล คือ ถ้าชวนไปทำชั่วก็ไปได้ทุกที่ แต่ถ้าชวนไปทำดีแล้ว ขอคิดดูก่อน มักอ้างโน่นอ้างนี่อยู่เรื่อยไป

๔. อนวัฏฐิกิจจตา มีกิจไม่มั่นคง มีอาการกลับกลอกจับจด ขาดการตัดสินใจที่เด็ดขาด มักลังเล พะว้าพะวงจนเกินเหตุ

๕. รัตติธูมายนา กลางคืนเป็นควัน หมายความว่า พอตกกลางคืนได้บรรยากาศเงียบสงัด ความคิดอ่านก็โลดแล่นไปอย่างฟุ้งซ่านเป็นตุเป็นตะจนหลับไม่ลง

๖. ทิวาปัชชลตา กลางวันเป็นเปลว หมายความว่า พอตกกลางวันก็มีอาการหาววาบ ๆ แต่เมื่อไปนอนก็นอนไม่ค่อยหลับ พอตื่นขึ้นมาความคิดฟุ้งซ่านก็ลุกโพลงอีก เป็นเหมือนเปลวไฟ

๗. หุราหุรัง ธาวนา เป็นคนคิดพล่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ นานา จนยากที่จะหยุดยั้งความคิดได้

ข้อสังเกต... จริตต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงมติของพระอรรถกถาซึ่งท่านได้วางหลักไว้เพื่อเป็นเครื่องกำหนดพิจารณาในการที่จะเลือกอารมณ์ให้เหมาะกับจริตของตนเอง หรือการให้อารมณ์กรรมฐานแก่บุคคลอื่นเท่านั้น มิใช่เป็นพุทธพจน์แท้แต่ประการใด ซึ่งจะถือเอาเป็นมาตรฐานโดยถูกต้องแน่นอนนั้นไม่ได้ เพียงแต่ใช้เป็นข้อสังเกตดูนิสัยของผู้ปฏิบัติโดยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น และบางคนไม่ใช่ว่าจะมีเพียงจริตเดียวเท่านั้น อาจมีได้ถึง ๒-๓-๔ จริตปนกันอยู่ ฉะนั้น ผู้อื่นนอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว การที่จะล่วงรู้จริตส่วนลึกของสัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นไปได้ยาก


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |