ไปยังหน้า : |
สภาวธรรมที่มีชื่อว่า มนสิการ นั้นมี ๓ อย่าง คือ
๑. วิถีปฏิปาทกมนสิการ หมายถึง มนสิการที่ทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นทางปัญจทวาร อันได้แก่ ปัญจทวาราวัชชนจิต หมายความว่า ปัญจทวาราวัชชนจิตนี้ เป็นจิตดวงแรกที่ขึ้นสู่วิถี เรียกว่า วิถีจิตดวงแรก เพื่อทำหน้าที่เริ่มรับอารมณ์ใหม่ที่มาปรากฏทางทวารทั้ง ๕ ทวารใดทวารหนึ่ง คือ รูปกระทบกับประสาทตา เสียงกระทบประสาทหู กลิ่นกระทบประสาทจมูก รสกระทบประสาทลิ้น โผฏฐัพพะประสาทกาย โดยประสาทรูปทั้ง ๕ นั้นเป็นทวาร คือ เป็นช่องทางให้จิตและเจตสิกรับรู้อารมณ์ได้ เมื่ออารมณ์ปรากฏทางทวารนั้นแล้ว ปัญจทวาราวัชชนจิตย่อมเกิดขึ้นทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์ พร้อมกับหน่วงเหนี่ยวหรือชักดึงเอาอารมณ์นั้นมาสู่วิถีจิตทางทวาร เรียกว่า อาวัชชนกิจ เช่น เมื่อรูปารมณ์มาปรากฏที่จักขุทวาร คือ การกระทบกับจักขุประสาท ภวังคจิตย่อมหวั่นไหวตอบสนองต่อรูปารมณ์นั้น เรียกว่า ภวังคจลนะ และตัดกระแสภวังค์คือทิ้งตัวเองหรือหลีกทางให้ เรียกว่า ภวังคุปัจเฉทะ ต่อจากนั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตย่อมเกิดขึ้นพิจารณาและหน่วงเหนี่ยวรูปารมณ์นั้นมาสู่จักขุทวารวิถีจิต ทำให้วิถีจิตเกิดขึ้นเป็นไปตามลำดับ คือ จักขุวิญญาณจิต สัมปฏิจฉนจิต สันตีรณจิต โวฏฐัพพนจิต ชวนจิต และตทาลัมพนจิต [ตทาลัมพนจิต มีได้เฉพาะกามบุคคลในขณะที่รับกามอารมณ์คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์ที่เป็นกามธรรม ได้แก่ กามจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ เท่านั้น] เสร็จแล้วก็ลงสู่ภวังคจิตตามเดิม ดังนี้เป็นตัวอย่าง แม้ในวิถีจิตทางทวารอื่น มีโสตทวารวิถี ก็เป็นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น การที่วิถีจิตมีปัญจวิญญาณจิต เป็นต้น จะเกิดทางปัญจทวารได้นั้น ต้องมีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นมาพิจารณาอารมณ์และหน่วงเหนี่ยวอารมณ์มาสู่ทวารนั้น ๆ ก่อนแล้ว วิถีจิตจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นทำหน้าที่อาวัชชนกิจก่อนแล้ว วิถีจิตทางปัญจทวารย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ปัญจทวาราวัชชนจิต จึงได้ชื่อว่า วิถีปฏิปาทกมนสิการ แปลว่า มนสิการที่เป็นบาทฐานให้เกิดวิถีจิต ดังตัวอย่างวิถีจิตต่อไปนี้
จักขุทวารวิถี มีรูปารมณ์ ที่เป็นปัจจุบัน เป็นอารมณ์
ตี น ท ป จักขุ ส ณ โว ช ช ช ช ช ช ช ต ต ภ
อักษร ป คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต ที่เป็นวิถีจิตดวงแรก ส่วนภวังค์ข้างหน้า ได้แก่ ตี น ท และภวังค์ข้างหลัง ได้แก่ ภ นั้น เป็นจิตที่มีอารมณ์เก่า ที่เรียกว่า กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่มรณาสันนชวนะ คือ ชวนจิตในวาระสุดท้ายก่อนตาย รับมาจากอดีตชาติเมื่อเวลาใกล้ตาย จึงเป็นจิตที่ไม่ได้รับอารมณ์ใหม่ ชื่อว่า จิตที่ไม่ได้ขึ้นสู่วิถี เรียกว่า วิถีมุตตจิต แปลว่า จิตที่พ้นวิถี เนื่องจากเป็นจิตที่ไม่ได้รับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันภพ เพราะฉะนั้น จิตที่ขึ้นสู่วิถีรับอารมณ์ใหม่ในปัจจุบันภพเป็นดวงแรกทางปัญจทวาร จึงได้แก่ ป คือ ปัญจทวาราวัชชนจิต วิถีจิตดวงต่อ ๆ ไป จึงเกิดขึ้นได้
๒. ชวนปฏิปาทกมนสิการ หมายถึง มนสิการที่ทำให้ชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์โดยความเป็นกุศล อกุศล หรือ กิริยาชวนจิต ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต หมายความว่า มโนทวาราวัชชนจิตนี้ เป็นจิตดวงแรกที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร เพื่อทำหน้าที่อาวัชชนกิจ เหมือนกับปัญจทวาราวัชชนจิต นอกจากนี้ มโนทวาราวัชชนจิต ยังทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ คือ การตัดสินอารมณ์ เพื่อให้ชวนจิตเกิดขึ้นเสพอารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตนี้ ไม่ว่าจะทำหน้าที่อาวัชชนกิจทางมโนทวารก็ดี หรือทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวารก็ดี ล้วนแต่เป็นบาทฐานให้ชวนจิตได้เกิดขึ้นด้วยกันทั้งนั้น เพราะหลังจากทำหน้าที่นั้น ๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว ชวนจิตย่อมเกิดขึ้นติดต่อกันทันทีโดยไม่มีจิตอื่นมาคั่นระหว่าง [หมายเอาเฉพาะวิถีจิตที่มีชวนะเกิดเท่านั้น] ตามธรรมดาปัญจทวารวิถีและมโนทวารวิถี ที่จะมีชวนจิตเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยมโนทวาราวัชชนจิตเป็นเหตุ ถ้าไม่มีมโนทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นแล้ว ชวนจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ มโนทวาราวัชชนจิต จึงได้ชื่อว่า ชวนปฏิปาทกมนสิการ แปลว่า มนสิการที่เป็นบาทฐานให้ชวนจิตเกิด ดังต่ออย่างวิถีจิตต่อไปนี้
ปัญจทวารวิถี มีปัญจารมณ์ที่เป็นปัจจุบันนิปผันนรูป เป็นอารมณ์
ตี น ท ป ทวิ ส ณ โว ช ช ช ช ช ช ช ต ต ภ
มโนทวารวิถี มีอารมณ์เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน หรือ กาลวิมุตติ
ตี น ท ม ช ช ช ช ช ช ช ต ต ภ
อักษร โว ในปัญจทวารวิถี ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ที่ทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ คือ ตัดสินอารมณ์เพื่อให้ชวนจิตเสพ
อักษร ม ในมโนทวารวิถี ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต เหมือนกัน ซึ่งทำหน้าที่ อาวัชชนกิจ คือ หน่วงเหนี่ยวอารมณ์มาสู่มโนทวารพร้อมกับตัดสินอารมณ์เพื่อให้ชวนจิตเสพเช่นกัน
เพราะฉะนั้น มโนทวาราวัชชนจิตนี้ ไม่ว่าจะทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจ ทางปัญจทวารก็ดี หรือทำหน้าที่ อาวัชชนกิจ ทางมโนทวารก็ดี ล้วนแต่เป็นบาทฐานให้ชวนจิตเกิดขึ้นเหมือนกัน ดังจะเห็นได้ว่า จิตที่เกิดต่อจากโวฏฐัพพนะก็ดี ที่เกิดต่อจาก อาวัชชนะก็ดี ก็คือ อักษร ช อันได้แก่ ชวนจิต นั่นเอง
๓. อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ หมายถึง มนสิการที่ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกแล่นไปสู่อารมณ์ องค์ธรรมได้แก่ มนสิการเจตสิก หมายความว่า มนสิการเจตสิก มีสภาพมุ่งตรงต่ออารมณ์เสมอ ไม่มีการซัดส่ายหันเหไปทางอื่น และไม่มีความรวนเรในอารมณ์ ย่อมมีการตัดสินใจเด็ดขาดที่จะรับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอนและมั่นคง เพราะฉะนั้น การที่จิตและเจตสิกทุกดวงเกิดขึ้นมาแล้ว ต้องได้รับอารมณ์เสมอ ก็ด้วยอำนาจมนสิการเจตสิก เป็นผู้ชักนำสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นให้มุ่งตรงสู่อารมณ์ ทั้งตนเองก็บ่ายหน้าไปสู่อารมณ์นั้นด้วย เพราะเหตุนี้ มนสิการเจตสิก จึงได้ชื่อว่า อารัมมณปฏิปาทกมนสิการ แปลว่า มนสิการที่เป็นบาทฐานให้สัมปยุตตธรรมได้รับรู้อารมณ์ ถ้าขาดมนสิการเจตสิกเสียแล้ว จิตก็ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ หรือจะกลายเป็นสภาวธรรมที่รวนเรในอารมณ์ และแต่ละดวงต่างก็หันเหไปในอารมณ์ต่าง ๆ ไม่มีความพร้อมเพรียงเป็นเอกภาพในการที่จะรับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอารมณ์เดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ สภาพความสับสนของสัมปยุตตธรรมนั้นก็จะเกิดมีขึ้นอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ เปรียบเหมือนการจราจรของรถยนต์บนท้องถนน ที่ขาดเจ้าหน้าที่ผู้บังคับการจราจร รถยนต์ย่อมวิ่งสับสนอลหม่านไปเต็มท้องถนน ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดการติดขัดทางจราจรเป็นอย่างมาก ข้อนี้ฉันใด สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ถ้าขาดมนสิการเจตสิกแล้ว ย่อมขาดเอกภาพในการรับรู้อารมณ์ สภาพความเป็นสัมปยุตตธรรม ที่เรียกว่า เอการัมมณะ คือ มีอารมณ์อย่างเดียวกันก็จะมีไม่ได้ แต่จะกลายเป็นสภาพที่เรียกว่า นานารัมมณะ คือ มีอารมณ์ต่างกัน เข้ามาแทนที่ แต่เพราะสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย มีมนสิการเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้งไป เพราะฉะนั้น สภาพความเป็นเอกภาพในการรับรู้อารมณ์ ที่เรียกว่า เอการัมมณะ จึงเกิดมีขึ้นได้ และคงสภาพความเป็นเอกลักษณ์ของสัมปยุตตธรรมอยู่ตลอดมา และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป