ไปยังหน้า : |
สภาพของปีติเจตสิกที่ประกอบในจิตทั้งหลาย ย่อมมีสภาพเป็นไปในอาการ ๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ตามแต่สภาพความประณีตของจิต ดังนี้
๑. ขุททกาปีติ หมายถึง ความปลาบปลื้มใจเกิดอาการซู่ซ่าที่มีสภาพทำให้ขนในร่างกาย เกิดอาการลุกชูชันได้
๒. ขณิกาปีติ หมายถึง ความปลาบปลื้มใจที่มีสภาพผุดขึ้นเป็นขณะ ๆ เหมือนสายฟ้าแลบและเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ ครั้ง
๓. โอกกันติกาปีติ หมายถึง ความปลาบปลื้มใจ ที่มีสภาพซึมซาบไปทั่วร่างกาย ถึงกับทำให้ร่างกายไหวโยกโคลงเคลงไปมาได้
๔. อุพเพงคาปีติ หมายถึง ความปลาบปลื้มใจ ที่มีสภาพทำให้เกิดอาการเบา จนสามารถทำให้ตัวลอยขึ้นไปในอากาศได้ หรือลอยลงจากเบื้องบนสู่ภาคพื้นได้ เช่น พระวักกลิเถระ ที่น้อมกายถวายบังคมพระพุทธเจ้า ลอยตัวลงมาจากภูเขาคิชฌกูฏ เพราะเกิดความปีติยินดีที่พระพุทธเจ้าตรัสเรียกหา เมื่อขณะที่ลอยตัวลงมาใกล้จะถึงภาคพื้นแล้ว ก็ข่มปีติไว้ได้ และพิจารณาปีติที่ดับไปแล้ว โดยความเป็นไตรลักษณ์ เมื่อเท้าถึงพื้นดินก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ดังนี้เป็นตัวอย่าง
๕. ผรณาปีติ หมายถึง ความปลาบปลื้มใจที่มีสภาพเอิบอาบซาบซ่านไปทั่วร่างกาย เหมือนสูบที่เติมลมย่อมผ่ายลมให้เข้าไปสู่วัตถุรับลมนั้นโดยลำดับจนแน่นเต่งตึง หรือเหมือนหลืบแห่งภูเขาที่ห้วงน้ำใหญ่ไหลเข้าไปซึมซาบจนเต็มเปี่ยม [ถ้ำใต้ภูเขาที่อยู่ติดแม่น้ำหรือทะเล เมื่อน้ำขึ้นมาแล้วก็จะไหลซึมซาบเข้าไปทั่วทุกช่องของถ้ำนั้น จนเต็มเปี่ยมโดยไม่ปล่อยให้มีช่องอากาศว่างอยู่เลย]
ปีติที่เป็นองค์ฌานนี้ ได้แก่ ผรณาปีติ ส่วนปีติ ๔ อย่างข้างต้นนั้น ยังไม่นับว่าเป็นองค์ฌาน เพราะยังมีสภาพหยาบและมีกำลังน้อยอยู่