ไปยังหน้า : |
อภิญญา แปลว่า ความรู้ยิ่ง หมายถึง ความรู้ยิ่งเป็นพิเศษในสิ่งต่าง ๆ ที่วิสัยของบุคคลธรรมดาสามัญทั่วไปรู้ไม่ได้ หรือรู้ได้ไม่เท่าเทียม มี ๖ อย่าง คือ
๑. อิทธิวิธอภิญญา การเนรมิตหรือแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้ เช่น คนเดียวเนรมิตให้เป็นหลายคนได้ หรือ หลายคนเนรมิตให้เป็นคนเดียวได้ เป็นต้น
๒. ทิพพจักขุอภิญญา สามารถมองเห็นสิ่งที่เล็กที่สุด หรือ ไกลที่สุด ที่จักษุธรรมดามองไม่เห็น หรือ สามารถมองเห็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เป็นต้นได้ตลอดถึงสามารถมองเห็นการเกิดการตายของสัตว์ทั้งหลายได้ จึงเรียกว่า จุตูปปาตญาณ
๓. ทิพพโสตอภิญญา สามารถฟังเสียงของสัตว์ที่เล็กที่สุดหรือเสียงที่เบาที่สุด หรือว่าเสียงที่อยู่ในที่ไกล ๆ ได้ หรือสามารถฟังเสียงของสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือสัตว์เดรัจฉานต่าง ๆ ได้
๔. ปรจิตตวิชานนอภิญญา สามารถรู้ความคิดจิตใจของผู้อื่นได้
๕. ปุพเพนิวาสานุสสติอภิญญา สามารถระลึกชาติในอดีตได้
๖. อาสวักขยอภิญญา ความรู้ทำให้สิ้นอาสวะกิเลสทั้งปวง
อภิญญา ๕ ข้างต้นจัดเป็นโลกียอภิญญา ส่วนอาสวักขยอภิญญา จัดเป็น โลกุตตรอภิญญา