ไปยังหน้า : |
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕๘ ได้อธิบายเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ไว้โดยสังเขป ดังต่อไปนี้
จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ หมายถึง รูปอิริยาบถทั้ง ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยจิตเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น จิตที่ทำให้อิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ปรากฏเกิดขึ้นได้นั้น มีจำนวน ๓๒ ดวง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ และอภิญญาจิต ๒
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
จิตตชรูปที่เกี่ยวกับอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ [แบบธรรมดา] หมายถึง อาการเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ ได้แก่ การนอน การนั่ง การยืน การเดิน ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของจิตจำนวน ๓๒ ดวง ที่เกิดขึ้นเป็นวิถีจิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒ เป็นปัจจัยให้จิตตชรูปจำนวน ๑๓ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ กายวิญญัติรูป ๑ วิการรูป ๓ [เว้นสัททรูปและวจีวิญญัติรูป] เกิดขึ้นตามสมควร ซึ่งแบ่งเป็น ๒ ประเภท ได้แก่ กายวิญญัตตินวกกลาป, และกายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป คือ
๑. การเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ในเวลาไม่ปกติ เป็นการเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ที่ไม่ค่อยคล่องแคล่ว ไม่ค่อยเข้มแข็ง ไม่ตั้งมั่น อันเนื่องมาจากร่างกายป่วยไข้ไม่สบาย ร่างกายหนักหน่วงอึดอัดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งอันเนื่องมาจากอาหารไม่สัปปายะเป็นต้น หรือร่างกายทุพพลภาพไม่มีเรี่ยวแรง ร่างกายไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ไม่กระฉับกระเฉง หรือเกิดจากความไม่สบายใจ หดหู่ท้อแท้เบื่อหน่าย อันเนื่องมาจากการได้ประสบกับความพินาศอย่างใหญ่หลวง ที่เรียกว่า พยสนะ ๕ [ดังกล่าวแล้วในเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย] อิริยาบถเป็นไปโดยอาการหนักหน่วง อืดอาด ไม่กระปรี้กระเปร่า ไม่กระฉับกระเฉง ดังกล่าวแล้ว กลุ่มรูปที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิตในขณะนั้น ย่อมเกิดขึ้นเพียง ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และกายวิญญัติรูป ๑ เรียกว่า กายวิญญัตตินวกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๙ รูป มีกายวิญญัติรูปเป็นประธาน รวมกับปริจเฉทรูปที่ไม่นับเป็นองค์ของกลาปอีก ๑ รูป รวมเป็น ๑๐ รูป
๒. การเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ในเวลาปกติ เป็นการเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ คือ การนอน การนั่ง การยืน การเดิน ที่เป็นไปด้วยอาการคล่องแคล่ว ในเวลาที่ร่างกายเป็นปกติธรรมดา มิได้มีเหตุปัจจัยใด ๆ มาบั่นทอน กล่าวคือ ไม่มีความป่วยไข้ทางร่างกายอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ และไม่มีความป่วยไข้ทางจิตใจ อันเนื่องมาจากการประสบกับความเศร้าโศกเสียใจ ความคับแค้นใจ จนถึงความเหือดแห้งใจ ด้วยอำนาจโสกะ ปริเทวะ โทมนัส และอุปายาส เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านี้ไม่มีแล้ว จิตย่อมมีกำลังและสามารถเป็นปัจจัยให้การเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ นั้นเป็นไปโดยอาการเบาสบาย มีความกระปรี้กระเปร่า กระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว อาจหาญ และหนักแน่น กลุ่มรูปที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิตในขณะนั้น ย่อมเกิดขึ้นได้ ๑๓ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ กายวิญญัติรูป ๑ และวิการรูป ๓ เรียกว่า กายวิญญัตติลหุตาทิทวาทสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๒ รูป ที่เป็นกายวิญญัตินวกกลาปนั่นเอง แต่มีวิการรูป ๓ คือ ลหุตารูป ความเบา มุทุตารูป ความอ่อนโยน และกัมมัญญตารูป ความควรแก่การงานของรูปเกิดร่วมอยู่ด้วย รวมกับปริจเฉทรูปที่ไม่นับเป็นองค์ของกลาปอีก ๑ รูป รวมเป็น ๑๓ รูป จึงทำให้ปฏิกิริยาของรูปมีความเป็นไปตรงกันข้ามกับกายวิญญัตตินวกกลาปดังกล่าวแล้วนั้น
อนึ่ง จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ นี้ หมายถึง การเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่ที่เป็นไปทางร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการพูดทางวาจา และปฏิกิริยาทางกายและทางวาจานั้น ย่อมมีการเกิดขึ้นและเป็นไปต่างขณะต่างวาระกัน ไม่ได้เป็นไปพร้อมกันในขณะจิตดวงเดียวกันหรือในวิถีจิตเดียวกัน ดังที่กล่าวแล้วในเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย