| |
อรหัตตมรรคจิต   |  

อรหัตตมรรคจิต หมายถึง จิตที่ทำให้บุคคลเข้าถึงความเป็นผู้ควรแก่การสักการบูชาอย่างยิ่งของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นจิตที่เกิดขึ้นเพื่อประหาณภวราคานุสัย มานานุสัยและอวิชชานุสัย หรือ ประหาณโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง ได้แก่ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะและอวิชชา ไม่ให้เหลืออยู่อีกเลยโดยสมุจเฉทปหาน

อรหัตตมรรค มาจากคำว่า อร+หน+ภาว+มรรค

อร แปลว่า ซี่กรรมแห่งสังสารวัฏฏ์

หน แปลว่า ฆ่าทำลาย

ภาว แปลว่า ความเป็น

มรรค แปลว่า หนทาง หรือการประหาณกิเลสเป็นเหตุ [ให้]

เมื่อรวมกันแล้วเป็น อรหัตตมรรค แปลว่า หนทางแห่งบุคคลผู้ถึงสภาพการฆ่าทำลายซี่กรรมแห่งสังสารวัฏฏ์ได้หมดสิ้นแล้ว หรือการประหาณกิเลสเป็นเหตุให้ถึงสภาพการทำลายซี่กรรมแห่งสังสารวัฏฏ์โดยหมดสิ้นแล้ว จึงเป็นผู้ไม่ต้องเกิดในภพใหม่อีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ จึงได้ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ แปลว่า ผู้ควรเพื่อการบูชาอย่างสูงสุด คือ เป็นทักขิไณยบุคคลอันเลิศ เป็นเนื้อนาบุญของโลก

อรหัตตมรรคจิต เมื่อเกิดขึ้นย่อมให้สำเร็จกิจ ๓ ประการ คือ

๑. ทำให้บุคคลนั้น ชื่อว่า อรหัตตมรรคบุคคล

๒. อรหัตตมรรคจิต เป็นจิตที่ทำให้บุคคลข้ามพ้นจากโลกทั้ง ๓ คือ กามโลก รูปโลก อรูปโลก โดยเด็ดขาด คือ ไม่ต้องเกิดใหม่ในภพภูมิใดอีกต่อไปแล้ว

๓. อรหัตตมรรคจิต เป็นจิตที่ทำการประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลือจากมรรคจิตอื่น ๆ ได้ประหาณไปแล้วทั้งหมดโดยสมุจเฉทปหาน หมายความว่า กิเลสที่อรหัตตมรรคจิตต้องทำการประหาณโดยเด็ดขาดนั้น เมื่อกล่าวโดยจิต ได้แก่ อกุศลจิตที่เหลือ ๕ ดวง คือ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ [ที่เกี่ยวกับรูปราคะ อรูปราคะ] และอุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ เมื่อกล่าวโดยกรรมบถ ได้แก่ อกุศลกรรมบถที่เหลือ ๒ คือ สัมผัปปลาปะและอภิชฌา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |