ไปยังหน้า : |
๑. สุตมยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาเล่าเรียน การฟัง การอ่าน การท่องบ่นสาธยาย การสอบสวนทวนถาม การบอกการสอน เป็นต้น
๒. จินตามยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณาให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นมา ตามที่ได้ยินได้ฟัง หรือ ได้ศึกษาเล่าเรียน ได้อ่าน ได้ท่องบ่นสาธยาย ได้สอบสวนทวนถาม ได้บอกได้สอน เป็นต้น โดยอาศัยหลักการและเหตุผลแห่งธรรมนั้น ๆ เป็นมาตรฐานในการคิดพิจารณา หรือ อาศัยวิถีชีวิตความเป็นอยู่และความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ อันเนื่องมาจากกรรมของแต่ละบุคคล หรืออนุมานเทียบเคียงตามเรื่องราวและเหตุการณ์ เป็นต้น ที่ประสบพบเห็นอยู่ในชีวิตประจำวัน
๓. ภาวนามยปัญญา หมายถึง ปัญญาที่เกิดจากการอบรมเจริญภาวนา ได้แก่ การเจริญสมถภาวนาจนสามารถเห็นแนวทางดำเนินไปสู่สมาธิอันประณีตยิ่งขึ้นโดยลำดับและสามารถทำฌานให้เกิดขึ้นได้ หรือด้วยการเจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง โดยความเป็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สามารถทำลายกิเลสที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่นในความคิดความเห็นว่า เป็นตัว เป็นตน เสียได้