| |
เหตุให้เกิดมหากุศลญาณวิปปยุตตจิต ๔ ประการ   |  

มหากุศลจิตที่เป็นญาณวิปปยุตต์ ๔ ดวงนั้น ย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย ๔ ประการ อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

๑. ปัญญาอะสังวัตตะนิกะกัมมูปะนิสสะยะตา เป็นผู้ปฏิสนธิมาโดยอาศัยกรรมที่ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา หมายความว่า เป็นผู้เกิดมาด้วยอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ๑ เป็นพวกอบายสัตว์ทั้ง ๔ เรียกว่า ทุคติบุคคล หรือ เป็นผู้เกิดมาด้วยอุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต ๑ เป็นมนุษย์ผู้ไม่สมประกอบทางด้านจิตใจหรือร่างกายบกพร่องด้วย หรือเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาที่เป็นพวกเทวดาชั้นต่ำต้อยไร้รัศมีและความรุ่งเรือง เรียกว่า สุคติอเหตุกบุคคล หรือเป็นผู้ที่เกิดมาด้วยมหาวิบากญาณวิปปยุตตจิต ๔ ดวงใดดวงหนึ่ง เป็นมนุษย์หรือเทวดาผู้มีสติปัญญาระดับปานกลาง แต่ไม่มีปัญญาเกิดมาพร้อมด้วยปฏิสนธิจิต เรียกว่า ทวิเหตุกบุคคล ฉะนั้น บุคคลเหล่านี้ ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยอย่างอื่นที่เกี่ยวเนื่องด้วยปัญญาหรือเป็นผู้ไม่ได้ขวนขวายแสวงหาทางปัญญาในภพชาติปัจจุบัน มักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสกิเลสกระแสโลกกระแสสังคมแล้ว ย่อมทำให้เป็นบุคคลผู้ไม่มีปัญญา ฉะนั้น ในขณะที่บุคคลนั้นกระทำกุศลต่าง ๆ ซึ่งตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจในเหตุผลและวิธีการของกุศลนั้น ๆ อย่างถูกแล้ว หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๒. สัพ๎ยาปัชฌะโลกูปะปัตติกะตา เป็นผู้ที่เกิดในชาติที่มีความกังวลห่วงใย มีความอาฆาตพยาบาทจองเวรกันอยู่เป็นนิตย์ หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้เกิดหรือได้เข้าไปอาศัยอยู่ในถิ่นที่ไม่มีความสงบร่มเย็น มักสร้างความบาดหมาง ก่อการวิวาททะเลาะเบาะแว้ง อาฆาตพยาบาทจองเวรกัน มีการประทุษร้ายรบราฆ่าฟันกันอยู่เสมอ หรือเป็นสังคมที่มีแต่การแสวงหาช่องทางเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกันทุกวิถีทาง ไว้วางใจกันไม่ได้ หรือเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยทุจริตกรรม บุคคลโดยทั่วไป เป็นพวกอันธพาล เป็นปาปมิตร ทำให้ต้องหวาดระแวงภัยอยู่เสมอ ไม่ค่อยมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนหรือแสวงหาความรู้แสวงหาธรรมเลย ไม่มีจิตใจที่จะคิดพิจารณาข้ออรรถข้อธรรมให้ละเอียดลึกซึ้ง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้นไม่เกิดสติปัญญาขึ้นมา หรือสติปัญญาที่เคยมีเคยเกิดแล้ว ก็หดหายเสื่อมเสียไป ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือ ไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๓. กิเลสาทูระตา เป็นผู้ที่ไม่ห่างไกลจากกิเลส หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในการแสวงหาอารมณ์ของกิเลสมาเป็นเครื่องกังวลใจอยู่เสมอ เช่น เป็นผู้ให้ความสำคัญแต่ในเรื่องกาม เรื่องกิน เรื่องเกียรติยศ สนใจแต่ในเรื่องชื่อเสียงความมีหน้ามีตาในสังคมแบบจอมปลอม โดยไม่ใส่ใจในเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเลย หรือเป็นผู้มุ่งหน้าไปในทางแสวงหาลาภ ยศ สุข สรรเสริญ โดยไม่สนใจในเรื่องธรรมะ เป็นผู้มืดบอดทางปัญญา เต็มไปด้วยความเจ้าเล่ห์มารยาสาไถย หลงใหลไปตามกระแสกิเลสกระแสโลกกระแสสังคมอยู่เป็นนิตย์ ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บุคคลนั้น เป็นผู้ไม่มีสติปัญญาที่จะคิดอ่านข้ออรรถข้อธรรมให้มีความรู้ความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งได้ หรือสติปัญญาที่มีอยู่แล้ว ก็พลอยเสื่อมสูญหดหายไป ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้นกระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา

๔. อินท๎ริยะอะปะริปากะตา เป็นผู้มีปัญญินทรีย์อ่อน หมายความว่า บุคคลนั้น เป็นผู้มีสติปัญญายังอ่อนอยู่ อันเนื่องมาจากยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก คือ มีอายุระหว่าง ๑-๑๐ ปี เรียกว่า มัณฑทสกวัย อันเป็นวัยอ่อน ยังไม่มีประสบการณ์ในชีวิต จึงยังไม่มีปัญญาที่จะพิจารณาเหตุผลได้อย่างรอบคอบ [ยกเว้นบุคคลผู้มีบุญญาธิการเป็นพิเศษมาแต่ชาติปางก่อน ที่มีปัญญาติดตัวมาแต่กำเนิด] หรือเป็นบุคคลที่ขาดการสั่งสมความรู้ ขาดประสบการณ์ในชีวิต ไม่สนใจในการแสวงหาวิชาความรู้ ไม่ใส่ใจในการแสวงคุณธรรมจริยธรรม มักปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกระแสโลกกระแสสังคมหรือกระแสกิเลส หมกมุ่นอยู่ในโลกแห่งกามอารมณ์ มักปล่อยวันเวลาและชีวิตให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ซึ่งบุคคลเช่นนั้นแม้จะมีอายุตั้งร้อยปี แต่สติปัญญาก็ยังอ่อนปวกเปียกอยู่นั่นเอง ฉะนั้น ในเวลาที่บุคคลนั้น กระทำบุญกุศลต่าง ๆ ที่ตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้อง หรือไม่มีประสบการณ์ในการกระทำกุศลนั้น ๆ มหากุศลจิตที่เกิดแก่บุคคลนั้น จึงไม่ประกอบด้วยปัญญา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |