| |
จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการพูด   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕๗ ได้อธิบายเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการพูดไว้ ดังต่อไปนี้

จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการพูด หมายถึง รูปที่แสดงอาการพูดโดยเปล่งเสียงออกจากปาก และมีการแสดงท่าทางประกอบด้วย ย่อมเกิดได้โดยอาศัยจิต จิตที่ทำให้รูปที่เกี่ยวกับการพูดเกิดขึ้นได้นั้น ได้แก่ จิต ๓๒ ดวงเท่ากับจิตที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย กล่าวคือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการพูด หมายถึง ปฏิกิริยาของรูปที่แสดงอาการพูดโดยเปล่งเสียงออกมาจากปากที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของจิต ซึ่งจิตที่ทำให้เกิดการเปล่งคำพูดออกมาได้นั้น ได้แก่ จิต ๓๒ ดวง คือ มโนทวาราวัชชนจิต ๑ กามชวนจิต ๒๙ อภิญญาจิต ๒ ที่เป็นไปโดยอาการกระตุ้นรูปให้แสดงการเปล่งวาจาออกมาทางปาก จิตตชรูปที่เกี่ยวกับการพูดที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของจิต ๓๒ ดวงนั้น มีจำนวน ๑๔ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ โคจรรูป ๔ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ และวิการรูป ๓ [เว้นกายวิญญัติรูป] เกิดขึ้นตามสมควร ทำให้ปฏิกิริยาของจิตตชรูปเกิดได้ ๒ ประเภท ได้แก่ วจีวิญญัตติสัทท ทสกกลาปและวจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป คือ

๑. การพูดในเวลาไม่ปกติ หมายถึง การพูดที่เป็นไปโดยอาการที่ไม่ค่อยคล่องแคล่ว อันเนื่องมาจากร่างกายอาพาธป่วยไข้ อวัยวะออกเสียงไม่อำนวยให้ หรือการพูดในเวลาที่ไม่ค่อยเต็มใจจะพูด อันเนื่องมาจากสภาพจิตใจไม่ปกติ เช่น โกรธ เกลียด หรือประสบกับเหตุที่ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจหรือความคับแค้นใจอย่างหนัก ดังกล่าวแล้วในเรื่องจิตตชรูปที่เกี่ยวกับการร้องไห้ กลุ่มรูปที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จึงมี ๑๐ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ เรียกว่า วจีวิญญัตติสัทททสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๐ รูปมีสัททรูปเป็นประธานและมีวจีวิญญัติรูปเกิดร่วมด้วย

๒. การพูดในเวลาปกติ หมายถึง การพูดที่เป็นไปด้วยอาการที่คล่องแคล่ว อันเนื่องมาจากร่างกายเป็นปกติธรรมดาไม่มีอาพาธป่วยไข้ใด ๆ เข้ามาเบียดเบียนหรือบั่นทอน และอวัยวะต่าง ๆ ก็อำนวยให้ด้วยดีหรือการพูดด้วยความเต็มใจ อันเนื่องมาจากสภาพจิตใจมีความปกติ เช่น ร่าเริงเบิกบาน เข้มแข็ง หนักแน่น อาจหาญ เพราะไม่ได้ประสบกับเหตุที่ทำให้เกิดความเศร้าโศกเสียใจและความคับแค้นใจอย่างหนัก ซึ่งทำให้การพูดนั้นมีความคล่องแคล่ว หนักแน่น และชัดเจน บ่งบอกถึงความรู้สึกภายในของจิตใจได้ กลุ่มรูปที่เกิดขึ้นในขณะนั้น มี ๑๓ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ สัททรูป ๑ วจีวิญญัติรูป ๑ และวิการรูป ๓ เรียกว่า วจีวิญญัตติสัททลหุตาทิเตรสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๓ รูป ที่เป็นวจีวิญญัตติสัทททสกกลาปนั่นเอง แต่มีวิการรูป ๓ เกิดร่วมอยู่ด้วย ทำให้ปฏิกิริยาการพูดนั้นมีความแตกต่างจากการพูดแบบวจีวิญญัตติสัทททสกกลาป กล่าวคือ ทำให้การพูดนั้น มีอาการร่าเริงเบิกบาน สละสลวย เข้มแข็ง หนักแน่น อาจหาญ เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |