ไปยังหน้า : |
ผัสสเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อัญญสมานราสี คือ หมวดอัญญสมานเจตสิก ๑๓ เป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทุกดวง
ผัสสเจตสิกนี้ เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่าประกอบกับจิตดวงใดแล้ว เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมมีผัสสเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ
ผัสสเจตสิกเป็นสภาวธรรมที่ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เกิดพร้อมกับตนสามารถกระทบกับอารมณ์ได้ ถ้าขาดผัสสเจตสิกเสียแล้ว สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถกระทบอารมณ์ได้เลย เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตย่อมไม่สามารถรู้อารมณ์ได้
ผัสสเจตสิกเกิดร่วมกับเจตสิก ๕๑ ดวง [เว้นตัวเอง] คือ
เมื่อประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นผัสสะ] และอกุศลเจตสิก ๑๔ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้
เมื่อประกอบกับอเหตุกจิต ๑๘ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๑ [เว้นผัสสะและฉันทะ] ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้
เมื่อประกอบโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นผัสสะ] และโสภณเจตสิก ๒๕ ตามที่จิตแต่ละดวงจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้
หมายเหตุ... เมื่อกล่าวถึงเจตสิกที่ประกอบกับเจตสิกแต่ละดวง ได้บอกจำนวนเจตสิกที่เกิดร่วมกับเจตสิกดวงนั้น แล้วบอกว่า เว้นตัวเอง นั้น เพราะเจตสิกแต่ละดวง ย่อมมีเพียง ๑ ดวงเท่านั้น เมื่อเจตสิกดวงใดถูกยกขึ้นมากล่าวเป็นประธาน แล้วหาเจตสิกที่เกิดร่วมกับเจตสิกดวงนั้น จึงต้องเว้นเจตสิกที่ถูกยกขึ้นมากล่าวเป็นประธานนั้นออกไปเสีย เปรียบเทียบให้เห็นชัด เช่น เมื่อตัวเราถูกยกขึ้นมาพูดถึงว่า คนที่เรียนกับเรา หรือคนที่ทำงานกับเรามีกี่คน ต้องบอกจำนวนเฉพาะคนที่เรียนกับเรา หรือทำงานกับเราเท่านั้น โดยเว้นตัวเราออกเสีย เพราะตัวเรามีเพียง ๑ คนเท่านั้น ย่อมไม่มีตัวเราอีกคนหนึ่งมาเรียนหรือมาทำงานร่วมกับตัวเราอีกแต่อย่างใด
อุปมานี้ฉันใด การนับเจตสิกที่เกิดร่วมกับเจตสิกแต่ละดวง ก็เป็นไปฉันนั้น ผู้อ่านหรือผู้ศึกษาพึงกำหนดจดจำข้ออธิบายนี้ไว้แล้วนำไปพิจารณาในคำอธิบายของเจตสิกแต่ละดวงต่อไป