ไปยังหน้า : |
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๒๑๖ ได้แสดงประเภทของคำว่า คันธะ ไว้ดังต่อไปนี้
คำว่า คันธะ นี้ใช้ในความหมาย ๔ ประการ คือ
๑. สีลคันโธ หมายถึง กลิ่นแห่งศีล ซึ่งได้แก่ สัมมาวาจา การพูดคำที่ดีมีประโยชน์ สัมมากัมมันตะ การทำสิ่งที่ชอบ สัมมาอาชีวะ การหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบ
๒. สมาธิคันโธ หมายถึง กลิ่นแห่งสมาธิ ซึ่งได้แก่ สัมมาวายามะ ความเพียรในทางที่ชอบ สัมมาสติ ความระลึกถึงสิ่งที่ชอบ สัมมาสมาธิ การทำใจให้สงบตั้งมั่นในทางที่ชอบ
๓. ปัญญาคันโธ หมายถึง กลิ่นแห่งปัญญา ซึ่งได้แก่ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม สัมมาสังกัปปะ ความดำริในเรื่องที่ชอบธรรม
คันธะทั้ง ๓ อย่างนี้ หมายถึง อาการฟุ้งกระจายแผ่ไปของศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ ซึ่งจัดเป็นธัมมารมณ์ ที่ปรากฏทางใจ ไม่ใช่คันธารมณ์ที่ปรากฏทางฆานทวาร คือ ทางจมูก เป็นกลิ่นที่แผ่กระจายไปได้ทั้งทวนลมและตามลม โดยไม่มีจำกัดขอบเขต
๔. อายตนคันโธ หมายถึง กลิ่นแห่งอายตนะ ซึ่งได้แก่ คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ที่ ปรากฏทางฆานทวารคือทางจมูก ซึ่งปรากฏแก่ฆานทวารวิถีหรือฆานทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒]