ไปยังหน้า : |
ตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวงนี้ ย่อมเป็นไปตามสภาพของอารมณ์เช่นเดียวกัน คือ
๑. เมื่อกามชวนจิตเสพสภาวอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาโดยสภาวะอันเป็นผลของอกุศลกรรมแล้ว ตทาลัมพนจิตที่เกิดต่อต้องเป็นอกุศลวิปากจิต ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ๑ ดวงเท่านั้น
๒. เมื่อกามชวนจิตเสพสภาวอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาโดยสภาวะระดับปานกลางอันเป็นผลของกุศลกรรมแล้ว ตทาลัมพนจิตที่เกิดต่อต้องเป็นตทาลัมพนจิตที่เป็นกุศลวิบากซึ่งเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ๕ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง ได้แก่ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต ๑ มหาวิบากอุเบกขา ๔ ดวง
๓. เมื่อกามชวนจิตเสพสภาวอติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่งโดยสภาวะอันเป็นผลของกุศลกรรมแล้ว ตทาลัมพนจิตที่เกิดต่อต้องเป็น ตทาลัมพนจิตที่เป็นกุศลวิบากซึ่งเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ๕ ดวง ดวงใดดวงหนึ่ง ได้แก่ โสมนัสสันตีรณจิต ๑ มหาวิบากโสมนัส ๔ ดวง
สรุปความแล้ว
ตทาลัมพนจิต ที่เป็นอกุศลวิบาก ย่อมมีกามอารมณ์ทั้ง ๖ ที่เป็น อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา
ตทาลัมพนจิต ที่เป็นกุศลวิบากที่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ย่อมมีกามอารมณ์ทั้ง ๖ ที่เป็น อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาระดับปานกลาง
ตทาลัมพนจิต ที่เป็นกุศลวิบากที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา ย่อมมีกามอารมณ์ทั้ง ๖ ที่เป็น อติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง