| |
กัมมสมุฏฐาน   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๓๙ ได้แสดงความหมายของกัมมสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

คำว่า กมฺมํ [กรรม] หมายถึง เจตนาดวงเดียว มีตรัสไว้โดยความเป็นกัมมปัจจัย ที่มีขณะต่างกัน [นานักขณิกกัมมปัจจัย] ในคัมภีร์ปัฏฐาน ดังมีพระพุทธวจนะแสดงว่า “นานากฺขณิกา กุสลากุสลา เจตนา วิปากานํ ขนฺธานํ กฎตฺตา จ รูปารมฺมณํ กมฺมปจฺจเยน ปจฺจโย” แปลความว่า เจตนาที่เป็นกุศลและอกุศลมีขณะต่างกัน เป็นปัจจัยแก่วิบากขันธ์และกฏัตตารูปโดยความเป็นกัมมปัจจัย

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๕๔๐ ท่านได้แสดงสมุฏฐานของรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ท่านอาจารย์นึกตั้งปัญหาว่า ก็เหตุมีกรรมเป็นต้นเหล่านั้น อะไรเป็นสมุฏฐานแห่งรูปได้อย่างไร ที่ไหน และเมื่อไร ดังนี้ จึงได้กล่าวคำมีอาทิว่า ตตฺถ ดังนี้

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๔๑ ได้แสดงความหมายของกัมมสมุฏฐานไว้ ดังต่อไปนี้

กรรม หมายถึง การกระทำด้วย กาย วาจา ใจ ที่เป็นกุศลและอกุศลเจตนา อันได้ทำมาแล้วในภพก่อนหรือในภพนี้ก็ตาม เมื่อกล่าวโดยสภาวะแล้ว ได้แก่ กรรม ๒๕ ประการ กล่าวคือ เจตนาที่ประกอบด้วยอกุศลจิต ๑๒ มหากุศลจิต ๘ และรูปาวจรกุศลจิต ๕ รวมเจตนาที่ประกอบในจิต ๒๕ ดวงเหล่านี้แหละ ที่เป็นสมุฏฐานทำให้รูปเกิดขึ้นในสันดานของสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ เรียกรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานนี้ว่า กัมมชรูป และเกิดขึ้นแก่สัตว์เหล่านั้นทุก ๆ อนุขณะของจิต นับแต่ปฏิสนธิจิตเป็นต้นไป

อันที่จริง กรรมทั้งหมดมี ๓๓ ประการ กล่าวคือ เจตนาในอกุศลจิต ๑๒ และในกุศลจิต ๒๑ แต่กรรมที่เป็นสมุฏฐานให้รูปเกิดขึ้นได้นั้น มีเพียงกรรม ๒๕ ประการเท่านั้น เว้นเจตนาในอรูปาวจรกุศลจิต ๔ และในโลกุตตรกุศลจิตหรือมรรคจิต ๔ ทั้งนี้ เพราะเจตนาในกุศลจิตทั้ง ๘ ดวงนี้ มิได้ทำให้รูปเกิดขึ้นเลย หมายความว่า อรูปาวจรกุศลเจตนา๔ เป็นกุศลกรรมที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการเจริญอรูปกัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นการเจริญรูปวิราคภาวนา คือ ภาวนาที่ปราศจากความยินดีในรูป หรือภาวนาที่สำรอกความยินดีในรูปออกเสีย ด้วยอำนาจแห่งรูปวิราคภาวนานี้เอง อรูปาวจรกุศลเจตนาทั้ง ๔ จึงไม่เป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูปเกิดขึ้น

ส่วนโลกุตตรกุศลเจตนาทั้ง ๔ เป็นกุศลกรรมที่เกิดขึ้นโดยการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนเห็นรูปนามขันธ์ ๕ โดยความเป็นไตรลักษณ์ แล้วเกิดความเบื่อหน่ายคลายความกำหนัด ปราศจากความยินดีในภพชาติทั้งปวง จึงเป็นกุศลกรรมที่ทำลายภพชาติ และกัมมชรูปก็เป็นตัวภพชาติอันหนึ่งอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น โลกุตตรกุศลกรรมทั้ง ๔ นี้ จึงไม่เป็นปัจจัยทำให้กัมมชรูปเกิดขึ้นด้วย

กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานนี้ ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๓ [เว้นสัททรูป] ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ และปริจเฉทรูป ๑ รวมเป็นกัมมชรูป ๑๘

กัมมชรูปเหล่านี้ ย่อมเกิดแก่สัตว์ทั้งหลายที่มีรูปขันธ์ คือ สัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ภูมิ และเอกโวการภูมิ ๑ ภูมิ รวมกัมมชรูปย่อมเกิดได้ใน ๒๗ ภูมิ และการเกิดขึ้นของกัมมชรูปเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่ปฏิสนธิแห่งสัตว์ทั้งหลายเป็นต้นไป และเกิดขึ้นได้ทุกอนุขณะของจิต กล่าวคือ ทั้งอุปปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ กัมมชรูปเหล่านี้จะเกิดสืบต่อเรื่อยไปในทุกอนุขณะของจิตทุกดวง กัมมชรูปแต่ละกลาปเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมตั้งอยู่ได้เท่ากับระยะเวลาของจิต ๑๗ ดวง หรือเท่ากับ ๕๑ อนุขณะของจิต แล้วจึงดับไป และมีกัมมชรูปใหม่เกิดขึ้นเช่นนี้เรื่อยไปทุกอนุขณะของจิต จนถึงเวลาที่สัตว์นั้นใกล้จะตาย นับตั้งแต่ฐีติขณะของจิตดวงที่ ๑๗ ซึ่งนับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป กัมมชรูปใหม่ย่อมไม่เกิดขึ้นอีก ส่วนกัมมชรูปเก่าที่เกิดขึ้นแล้วตั้งแต่อุปปาทขณะของจิตดวงที่ ๑๗ ที่นับถอยหลังจากจุติขึ้นไปนั้น ย่อมตั้งอยู่ได้จนถึงภังคขณะของจุติจิต ก็จะครบกำหนดอายุของกัมมชรูปนั้นพอดี แล้วจึงดับลงพร้อมกับภังคขณะของจุติจิตนั้นนั่นเอง

บทสรุปของผู้เขียน :

จากข้อมูลเรื่องกัมมสมุฏฐานที่ท่านแสดงมาแล้วนั้น สามารถสรุปเนื้อความได้ดังต่อไปนี้

กรรม หมายถึง การกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นกุศลและอกุศล อันมีเจตนาเจตสิกเป็นประธาน ซึ่งได้ทำไว้แล้วในภพก่อน หรือในภพปัจจุบันก็ตาม เมื่อกล่าวโดยสภาวะแล้ว ได้แก่ กรรม ๒๕ ประการ กล่าวคือ เจตนาที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒ ในมหากุศลจิต ๘ และในรูปาวจรกุศลจิต ๕ รวมเป็นเจตนากรรมในจิต ๒๕ ดวงนี้แหละ ที่เป็นสมุฏฐานทำให้กัมมชรูปเกิดขึ้นในสันดานของสัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิและเอกโวการภูมิ เรียกว่า กัมมสมุฏฐาน

กัมมสมุฏฐาน หมายถึง กรรมที่ทำให้รูปเกิดขึ้น ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒ มหากุศลจิต ๘ และรูปาวจรกุศลจิต ๕ รวมเป็นเจตนากรรม ๒๕ ประการเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดขึ้นแก่สัตว์ผู้เกิดในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ได้แก่ กามภูมิ ๑๑ คือ อบายภูมิ ๔ มนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ และรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑] คือ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ และจตุตถฌานภูมิ ๖ และในเอกโวการภูมิ ๑ ได้แก่ อสัญญสัตตภูมิ เจตนากรรมที่ประกอบกับกุศลจิตและอกุศลจิตเหล่านี้ย่อมเป็นปัจจัยทำให้รูปเกิดขึ้นได้ตามสมควรแก่ภพภูมินั้น ๆ รูปที่เกิดจากกรรมเหล่านี้ ท่านเรียกว่า กัมมชรูป

กัมมชรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรม มี ๑๘ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อวินิพโภครูป ๘ และปริจเฉทรูป ๑ ซึ่งรูปเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นในสัตว์ทั้งหลาย เป็นอวัยวะต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของร่างกายแห่งสัตว์นั้น ๆ ตามสมควรที่จะเกิดได้ โดยเกิดขึ้นเรื่อยไปทุกอนุขณะของจิต นับตั้งแต่ปฏิสนธิเป็นต้นไป จนถึงจิตดวงที่ ๑๗ ที่นับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป กัมมชรูปจึงจะเกิดเป็นครั้งสุดท้ายและจะไม่เกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นอีกเลย กัมมชรูปที่เกิดขึ้นแล้วย่อมจะทะยอยดับไป ๆ เมื่อจุติจิตดับลง กัมมชรูปย่อมจะดับลงเป็นครั้งสุดท้ายพร้อมด้วยเช่นกัน หมายความว่า เมื่อสัตว์นั้นสิ้นใจตายลง กัมมชรูปย่อมจะดับหมดลงพร้อมกับการสิ้นใจของบุคคลนั้นทันที

กัมมชรูป คือ รูปที่เกิดจากกรรมนี้ มีชื่อเรียกเต็ม ๆ ว่า กัมมสมุฏฐานิกรูป แปลว่า รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. เอกันตกัมมสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียวโดยแน่นอน มี ๙ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ หมายความว่า ประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย ความเป็นหญิง ความเป็นชาย หัวใจ และชีวิต ทั้ง ๙ รูปนี้ ย่อมเกิดมีได้เฉพาะในร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลายที่มีรูปขันธ์เท่านั้น ซึ่งได้แก่ สัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ [ภูมิที่มีขันธ์ครบห้าขันธ์] ๒๖ ภูมิ และในเอกโวการภูมิ ๑ ภูมิ [อสัญญสัตตภูมิเป็นภูมิที่มีรูปขันธ์อย่างเดียวไม่มีนามขันธ์ เป็นภูมิที่มีแต่ชีวิตรูปเท่านั้น ส่วนกัมมชรูปอีก ๘ อย่างนั้นย่อมไม่มีแก่อสัญญสัตตพรหมทั้งหลายเลย] รวมความแล้ว กัมมชรูปย่อมเกิดได้ใน ๒๗ ภูมิดังกล่าวแล้ว เพราะเหตุที่รูปเหล่านี้เกิดจากอกุศลกรรมและโลกียกุศลกรรมโดยส่วนเดียว จึงเรียกว่า เอกันตกัมมสมุฏฐานิกรูป

๒. อเนกันตกัมมสมุฏฐานิกรูป หมายถึง รูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมอย่างเดียว แต่สามารถเกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่นได้อีกด้วย มี ๙ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และปริจเฉทรูป ๑ หมายความว่า รูปทั้ง ๙ เหล่านี้ที่เกิดในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายก็มี ที่เกิดในสิ่งที่ไม่มีชีวิตทั้งหลายก็มี อนึ่ง รูปเหล่านี้ล้วนแต่เป็นส่วนประกอบของกลาปรูปและเป็นขอบเขตของกลาปรูปด้วยทุกกลาป ไม่ว่ากลาปรูปเหล่านั้นจะเกิดจากสมุฏฐานใดก็ตาม ในบรรดารูปสมุฏฐานทั้ง ๔ เพราะเหตุที่รูปเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นจากสมุฏฐานอื่น ๆ ได้อีก ไม่ใช่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานอย่างเดียว เหมือนกัมมชรูปอีก ๙ รูปดังกล่าวแล้วนั่นเอง ท่านจึงเรียกว่า อเนกันตกัมมสมุฏฐานิกรูป

การเกิดขึ้นของกัมมชรูปเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่อุปปาทขณะของปฏิสนธิจิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย [ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ตามสมควร] เป็นต้นไปและเกิดขึ้นในทุกอนุกขณะของจิต กล่าวคือ ทั้งอุปปาทขณะ [ขณะเกิด] ฐีติขณะ [ขณะตั้งอยู่] และภังคขณะ [ขณะดับ] [ส่วนกัมมชรูป คือ ชีวิตนวกกลาปที่เกิดเป็นอสัญญสัตตพรหมนั้น ย่อมเกิดขึ้นตั้งแต่ปฏิสนธิขณะแรกและเกิดติดต่อกันเรื่อยไปจนกว่าจะหมดอายุขัยแห่งอสัญญสัตตพรหมนั้น ๆ โดยอนุมานระยะเวลาแห่งขณะของจิต เหมือนกันกับในปัญจโวการภูมิ กล่าวคือ เทียบระยะเวลาของขณะจิต เป็นอุปปาทขณะ ฐีติขณะ และภังคขณะ เพราะพวกอสัญญสัตตพรหมทั้งหลายนั้นไม่มีจิตเกิดเลย] กัมมชรูปเหล่านี้ย่อมเกิดสืบเนื่องกันเรื่อยไป ตราบเท่าที่สัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่ หรือตราบเท่าที่รูปเหล่านั้นยังไม่ทุพพลภาพเพราะหมดเหตุปัจจัย เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมตั้งอยู่ได้เท่ากับระยะเวลา ๑๗ ขณะจิต [ขณะใหญ่ของจิต] แล้วย่อมดับไป โดยมีกัมมชรูปใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่เช่นนี้เรื่อยไป จนถึงเมื่อเวลาใกล้จะตาย ตั้งแต่ฐีติขณะของจิตดวงที่ ๑๗ ที่นับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไป กัมมชรูปใหม่ย่อมไม่เกิดอีกเลย ส่วนกัมมชรูปที่เกิดขึ้นแล้วนั้น รูปใดมีอายุครบ ๕๑ อนุขณะของจิตแล้ว รูปนั้นย่อมทะยอยดับไป ๆ ทุกอนุขณะของจิตเช่นเดียวกัน ส่วนกัมมชรูปที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับอุปปาทขณะของจิตดวงที่ ๑๗ ที่นับถอยหลังจากจุติจิตขึ้นไปนั้น ย่อมจะตั้งอยู่ได้จนถึงจุติจิต และดับลงพร้อมกันกับภังคขณะของจุติจิตพอดี


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |