ไปยังหน้า : |
ผู้เขียนได้อธิบายสรุปความเรื่องปถวีธาตุไว้พอสังเขปดังนี้
ปถวีธาตุ มีความแข็งหรือความอ่อนเป็นลักษณะ คือ เมื่อเปรียบเทียบกับมหาภูตรูปที่เหลืออีก ๓ รูป ได้แก่ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุแล้ว ปถวีธาตุย่อมมีสภาพแข็งกว่าธาตุอื่น ๆ ในวัตถุสิ่งของอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ามีปถวีธาตุรวมกันอยู่เป็นปริมาณมาก วัตถุนั้น ๆ ย่อมปรากฏลักษณะแข็งมาก เช่น ไม้ หิน เหล็ก เป็นต้น แต่ถ้าวัตถุอันใด มีปถวีธาตุรวมอยู่เป็นปริมาณน้อย ลักษณะแข็งย่อมปรากฏไม่มาก เช่น สำลี ยาง ฟองน้ำ เป็นต้น เมื่อสัมผัสแล้วจะรู้สึกว่ามีลักษณะอ่อน เพราะฉะนั้น ธรรมชาติใดเมื่อสัมผัสถูกต้องแล้ว มีลักษณะอ่อนหรือแข็งก็ตาม ธรรมชาตินั้นจัดเป็นปถวีธาตุทั้งสิ้น ธาตุอื่น ๆ นอกจากปถวีธาตุแล้ว ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดความรู้สึกแข็งหรืออ่อนขึ้นได้โดยกายสัมผัส ฉะนั้น ปถวีธาตุนี้จึงเป็นที่อาศัยของรูปอื่น ๆ เหมือนพื้นแผ่นดินย่อมเป็นที่อาศัยของสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต หมายความว่า สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏรูปร่างสัณฐานสีสันวรรณะ ตลอดจนอารมณ์ต่าง ๆ ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ เหล่านี้เป็นต้นได้นั้น ก็เพราะอาศัยปถวีธาตุเป็นฐานรองรับ ถ้าปราศจากปถวีธาตุเสียแล้ว ย่อมไม่สามารถปรากฏขึ้นได้เลย
อนึ่ง ปถวีธาตุนี้ ย่อมอาศัยธาตุที่เหลืออีก ๓ เป็นปัจจัย คือ
๑. มีอาโปธาตุ เป็นตัวเกาะกุมไว้
๒. มีเตโชธาตุ เป็นผู้ตามรักษาไว้ [ไออุ่นหล่อเลี้ยงไว้]
๓. มีวาโยธาตุ เป็นตัวกระพือพัด [ถ่ายเทอากาศให้เกิดความสมดุล]