| |
ถีนมิทธเจตสิก   |  

ถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้ต้องเป็นไปด้วยกันเสมอ แม้เวลาประกอบกับจิตหรือในขณะที่เกิดในจิต ต้องเกิดพร้อมกันเสมอ ขาดดวงใดดวงหนึ่งไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เจตสิกทั้ง ๒ ดวงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า สหกทาจิ หมายความว่า เป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตเป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาเกิดต้องเกิดพร้อมกันเสมอ

การเกิดขึ้นของถีนเจตสิกและมิทธเจตสิกทั้ง ๒ ดวง ดังที่กล่าวว่า เกิดเป็นบางครั้งบางคราวนั้น โดยขึ้นอยู่กับสภาพของจิตที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ถ้าสภาพจิตของบุคคลในขณะนั้น ยังหนักแน่นในคุณงามความดีอยู่ แม้จะถูกยั่วยุให้เกิดอกุศลโดยประการต่าง ๆ ให้เกิดความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ก็ตาม จิตของบุคคลนั้นก็ยังไม่โน้มเอียงไปตามอำนาจอกุศลกรรมเสียทันที แต่เมื่อถูกกระตุ้นบ่อย ๆ โดยตนเองคิดกระตุ้นตนเองก็ดี บุคคลอื่นแสดงอาการกระตุ้นโดยประการต่าง ๆ ก็ดี แล้วมีอาการจะโน้มเอียงไปในทางอกุศล เมื่อนั้น ถีนเจตสิกย่อมทำให้จิตที่ตนเข้าประกอบร่วมด้วยนั้นเกิดอาการท้อถอยจากอารมณ์ที่เป็นกุศล ส่วนมิทธเจตสิกย่อมทำให้เจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนในจิตดวงเดียวกันนั้นเกิดอาการท้อถอยจากอารมณ์ที่เป็นกุศล หรือทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันในจิตดวงเดียวกันนั้นท้อถอยจากอุดมการณ์ที่เป็นกุศลแล้วน้อมจิตไปสู่อกุศลกรรมต่าง ๆ อุปมาถีนเจตสิกเหมือนดวงไฟ มิทธเจตสิกเหมือนแสงสว่างจากดวงไฟ เมื่อดวงไฟหรี่ลงแล้ว แสงสว่างย่อมลดน้อยลงพร้อม ๆ กันไปด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |