| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับทิฏฐิ ทิฏฐิสูตร   |  

ทิฏฐิสูตร

[ว่าด้วยทิฏฐิต่าง ๆ]

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดี ออกจากพระนครสาวัตถีตั้งแต่เวลายังกลางวันอยู่ เพื่อเฝ้าพระพุทธเจ้า ลำดับนั้น ท่านได้มีความคิดเช่นนี้ว่า ขณะนี้มิใช่เวลาที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า เพราะเป็นเวลาที่พระองค์ยังทรงหลีกเร้นอยู่ มิใช่เวลาที่จะเยี่ยมเยียนภิกษุทั้งหลาย เพราะพวกภิกษุยังหลีกเร้นอยู่ อย่ากระนั้นเลย เราพึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกก่อนเถิด ลำดับนั้น ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีจึงเข้าไปยังอารามของพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ขณะนั้น พวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชกกำลังประชุมสุมหัวกันบันลือเสียงเอ็ดอึง นั่งพูดกันถึงดิรัจฉานกถาหลายอย่าง พอได้เห็นท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีเดินมาแต่ไกล จึงบอกกันให้หยุด ด้วยกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงเบาเสียง อย่าได้ส่งเสียงดัง อนาถปิณฑิกคฤหบดีคนนี้เป็นสาวกของพระสมณโคดม กำลังเดินมา อนาถปิณฑิกคฤหบดีนี้เป็นสาวกคนหนึ่ง บรรดาคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาว ซึ่งเป็นสาวกของพระสมณโคดม อาศัยอยู่ในพระนครสาวัตถี ท่านเหล่านั้นเป็นผู้ใคร่ในเสียงเบา ได้รับแนะนำในทางเสียงเบา กล่าวสรรเสริญเสียงเบา แม้ไฉนเขาทราบบริษัทผู้เสียงเบา พึงสำคัญที่จะเข้ามาหา ลำดับนั้นปริพาชกเหล่านั้นจึงพากันนิ่งเงียบเสียงอยู่ ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีเข้าไปหาปริพาชกเหล่านั้นถึงที่อยู่แล้ว ได้สนทนาปราศรัยกับพวกอัญญเดียรถีย์ปริพาชก ครั้นผ่านการปราศรัย พอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว ได้นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ลำดับนั้นอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี ขอท่านจงบอก พระสมณโคดมว่ามีทิฎฐิอย่างไร

[อนาถปิณฑิกคฤหบดี] ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฎฐิทั้งหมดของพระพุทธเจ้า

[ปริพพาชก] ดูกรคฤหบดี นัยว่า บัดนี้ท่านไม่ทราบทิฎฐิทั้งหมดของพระสมณโคดม ขอท่านจงบอกว่า ภิกษุทั้งหลายมีทิฎฐิอย่างไร

[อนาถปิณฑิกคฤบดี] ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าไม่ทราบทิฎฐิทั้งหมด แม้ของภิกษุทั้งหลาย

[ปริพพาชก] ดูกรคฤหบดี นัยว่า ท่านไม่ทราบทิฎฐิทั้งหมดของพระสมณ-โคดม ทั้งไม่ทราบทิฎฐิทั้งหมดของพวกภิกษุ ด้วยประการดังนี้ ขอท่านจงบอกว่า ตัวท่านมีทิฎฐิอย่างไร

[อนาถปิณฑิกคฤบดี] ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย การที่ข้าพเจ้าบอกทิฎฐิของข้าพเจ้าว่ามีทิฎฐิอย่างไรนั้นไม่ยากเลย แต่ว่าเชิญท่านทั้งหลายบอกทิฎฐิของตนเสียก่อน ข้าพเจ้าจึงจะบอกทิฎฐิของข้าพเจ้าว่า มีทิฎฐิอย่างไรในภายหลัง ซึ่งเป็นการทำได้ไม่ยาก

เมื่อท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกคนหนึ่งได้กล่าว กะท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฎฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง ปริพาชกอีกคนหนึ่งกล่าวกะอนาถปิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฎฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง แม้ปริพาชกอีกคนหนึ่งได้กล่าวกะอนาถปิณฑิกคฤหบดีว่า โลกมีที่สุด... อีกคนหนึ่งกล่าวว่าโลกไม่มีที่สุด... อีกคนหนึ่งพูดว่า ชีพก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น... อีกคนหนึ่งพูดว่า ชีพอย่างหนึ่ง สรีระอย่างหนึ่ง... อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้วย่อมเป็นอีก... อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก... อีกคนหนึ่งพูดว่า สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี... อีกคนหนึ่งพูดว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฎฐิอย่างนี้ว่า สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง

เมื่อพวกปริพาชกกล่าวอย่างนี้ ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีได้กล่าวกะปริพาชกเหล่านั้นว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ท่านผู้มีอายุได้กล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฎฐิอย่างนี้ว่า โลกเที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ทิฎฐิของท่านผู้มีอายุนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะคำโฆษณาของบุคคลอื่นเป็นปัจจัย ทิฎฐินั้นเกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ยึดติดอยู่ในสิ่งนั้นนั่นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นย่อมเข้าถึงสิ่งนั้นนั่นแหละ

แม้ท่านผู้มีอายุใดกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฎฐิอย่างนี้ว่า โลกไม่เที่ยง สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นไม่จริง ทิฎฐิของท่านผู้มีอายุนั้นย่อมเกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือ เพราะคำโฆษณาของบุคคลอื่นเป็นปัจจัย ทิฎฐินั้นเกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ยึดติดอยู่ในสิ่งนั้นนั่นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นย่อมเข้าถึงสิ่งนั้นนั่นแหละ

แม้ท่านผู้มีอายุใดกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรคฤหบดี เรามีทิฎฐิอย่างนี้ว่า โลกมีที่สุด... โลกไม่มีที่สุด... ชีพอันนั้น สรีระก็อันนั้น... ชีพอย่างหนึ่ง สรีระก็อย่างหนึ่ง... สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีก... สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก... สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็มี ไม่เป็นอีกก็มี... สัตว์เมื่อตายแล้ว ย่อมเป็นอีกก็หามิได้ ย่อมไม่เป็นอีกก็หามิได้ สิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า ทิฎฐิของท่านผู้มีอายุนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุแห่งการกระทำไว้ในใจโดยไม่แยบคายของตน หรือเพราะคำโฆษณาของบุคคลอื่นเป็นปัจจัย ก็ทิฎฐินั้นเกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว ย่อมเกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านผู้มีอายุนั้นเป็นผู้ยึดติดอยู่ในสิ่งนั้นนั่นแหละ ท่านผู้มีอายุนั้นย่อมเข้าถึงสิ่งนั้นนั่นแหละ

เมื่อท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นได้กล่าวกะท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดี พวกเราทั้งหมดบอกทิฎฐิของตนแล้ว ขอท่านจงบอกว่า ท่านมีทิฎฐิอย่างไร

[อนาถปิณฑิกคฤหบดี] ข้าแต่ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ข้าพเจ้ามีความเห็นสิ่งนั้นอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา

[ปริพพาชิก] ดูกรคฤหบดี สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ท่านเป็นผู้ยึดติดอยู่ในสิ่งนั้นนั่นแหละ ท่านย่อมเข้าถึงสิ่งนั้นนั่นแหละ

[อนาถปิณฑิกคฤหบดี] ก็สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว อันปัจจัยก่อขึ้นแล้ว เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัย สิ่งนั้นไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ ข้าพเจ้าย่อมเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ทั้งรู้ชัดซึ่งอุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งสิ่งนั้นอย่างยอดเยี่ยมตามความเป็นจริง

เมื่อท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีกล่าวอย่างนี้แล้ว ปริพาชกเหล่านั้นพากันนั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีทราบว่าปริพาชกเหล่านั้นเป็นผู้นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา โต้ตอบไม่ได้ แล้วลุกจากอาสนะหลีกไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระพุทธเจ้าแล้ว นั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลถึงเรื่องที่สนทนากับอัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นทั้งหมด แด่พระพุทธเจ้าให้ทรงทราบทุกประการ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดีละ ๆ คฤหบดี ท่านพึงข่มขี่พวกโมฆบุรุษเหล่านั้น ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดี โดยอาการอันสมควร โดยชอบธรรมอย่างนี้แล

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีได้เห็นชัด สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถา ท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีอันพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงให้เห็นชัด สมาทาน อาจหาญ ร่าเริงด้วยธรรมีกถาแล้ว จึงลุกจากที่นั่ง ถวายบังคมพระพุทธเจ้า กระทำประทักษิณแล้วหลีกไป เมื่อท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีหลีกไปไม่นาน พระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดแล เป็นผู้มีธรรมอันไม่หวั่นไหวในธรรมวินัยตลอดกาลนาน ภิกษุนั้น พึงข่มขี่อัญญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น ให้เป็นการข่มขี่ด้วยดีโดยชอบธรรมอย่างนี้ เหมือนท่านอนาถปิณฑิกคฤหบดีข่มขี่แล้ว ฉันนั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |