ไปยังหน้า : |
รูปาวจรกิริยาจิต เป็นจิตของพระอรหันต์ที่เข้าถึงฌานโดยนัยเดียวกันกับ รูปาวจรกุศลจิตของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ ที่แสดงไปแล้ว ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่า รูปาวจรกิริยาจิตนี้ ก็คือ รูปาวจรกุศลจิต นั่นเอง แต่เกิดขึ้นในสันดานของพระอรหันต์โดยเฉพาะเท่านั้น การเจริญฌานของพระอรหันต์นั้น ต่างจากปุถุชนและพระเสกขบุคคล ตรงที่องค์ฌานไม่ต้องทำหน้าที่ข่มนิวรณ์ เพราะพระอรหันต์ทั้งหลายท่านละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว เพียงแต่ทำการเพ่งอารมณ์เพื่อให้จิตสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียวจนได้ปฐมฌานกิริยาจิตแล้วทำการพิจารณากำหนดละองค์ฌานที่หยาบกว่า ถือเอาองค์ฌานที่ประณีตกว่า เลื่อนขั้นฌานขึ้นไปตามลำดับ โดยทำนองเดียวกันกับรูปฌานกุศลจิตที่กล่าวแล้ว อนึ่ง การแสดงรูปาวจรกิริยาจิตนี้ เป็นการแสดงโดยสภาวะของสัมปยุตตธรรมที่เพ่งอารมณ์ ตามความเป็นไปของสภาวธรรม ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม เท่านั้น เพื่อจำแนกให้รู้ว่า พระอรหันต์ผู้เจริญฌานนั้น ท่านได้เข้าถึงฌานขั้นไหนแล้วเท่านั้น มิฉะนั้นแล้ว จะไม่สามารถกำหนดรู้ฌานจิตของพระอรหันต์ได้เลย แต่มิได้แสดงในฐานะการเพ่งอารมณ์เพื่อละธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อองค์ฌานเหมือนกับของปุถุชนหรือพระเสกขบุคคล แต่ประการใด รูปฌานกิริยาจิตนี้ มี ๕ ดวง เหมือนกันกับรูปฌานกุศลจิต ดังกล่าวแล้ว คือ
รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๑
วิตักกวิจารปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ปฐมัชฌานก๎ริยาจิตตัง
ปฐมฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๕ คือวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๑ เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับแรกของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา การเพ่งอารมณ์ ๒๕ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของตน จนจิตแนบแน่นในอารมณ์นั้นโดยลำดับถึงอัปปนาสมาธิ องค์ฌาน ๕ ปรากฏเด่นชัด ชื่อว่า ปฐมฌานกิริยาจิตได้เกิดขึ้นแก่พระอรหันต์นั้นแล้ว หรือเกิดขึ้นด้วยของบุญบารมีเก่าที่ได้สั่งสมมา เมื่อมรรคจิตเกิดขึ้น ปฐมฌานจิตก็เกิดต่อจากมรรคจิตดวงนั้นทันทีเลย เรียกว่า มัคคสัทธิฌาน ก็มี
รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๒
วิจารปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ทุติยัชฌานก๎ริยจิตตัง
ทุติยฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
รูปาวจรกิริยาจิตดวงที่ ๒ เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๒ ของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของตน หมายความว่า พระอรหันต์นั้น หลังจากได้ปฐมฌานกิริยาจิตและฝึกฝนให้เป็นวสี ๕ แล้ว จึงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทำการกำหนดละวิตกซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในปฐมฌานกิริยาจิตนั้น อันจะทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ได้นาน เมื่อละวิตกได้แล้ว ทุติยฌานกิริยาจิตก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๓
ปีติสุขเอกัคคตาสหิตัง ตติยัชฌานก๎ริยจิตตัง
ตติยฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
รูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๓ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๓ ของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของตน หมายความว่า พระอรหันต์นั้น หลังจากได้ทุติยฌานกิริยาจิตและฝึกฝนให้เป็นวสี ๕ แล้ว จึงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทำการกำหนดละวิจารซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในทุติยฌานกิริยาจิตนั้น อันจะทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้นาน เมื่อละวิจารได้แล้ว ตติยฌานกิริยาจิต ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๔
สุขเอกัคคตาสหิตัง จตุตถัชฌานก๎ริยจิตตัง
จตุตถฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข เอกัคคตา
รูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๔ นี้เป็นฌานจิตที่เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๔ ของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพ่งอารมณ์ ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ อัปปมัญญา ๓ [เว้นอุเบกขาอัปปมัญญา ๑] ตามสมควรแก่จริตของตน หมายความว่า พระอรหันต์นั้น หลังจากได้ตติยฌานกิริยาจิตและฝึกฝนให้เป็นวสี ๕ แล้ว จึงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๔ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทำการกำหนดละปีติซึ่งเป็นองค์ฌานที่หยาบกว่าองค์ฌานอื่นในตติยฌานกิริยาจิตนั้น อันจะทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้นาน เมื่อละปีติได้แล้ว จตุตถฌานกิริยาจิต ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ สุข และ เอกัคคตา
รูปฌานกิริยาจิต ดวงที่ ๕
อุเปกขาเอกัคคตาสหิตัง ปัญจมัชฌานก๎ริยจิตตัง
ปัญจมฌานกิริยาจิต ๑ เกิดพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
รูปาวจรกิริยาจิต ดวงที่ ๕ นี้เป็นฌานที่เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๕ ของพระอรหันต์นั้น ด้วยการเจริญสมถภาวนา เพ่งอารมณ์ ๑๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง คือ กสิณ ๑๐ อานาปานสติ ๑ มัชฌัตตสัตวบัญญัติ ๑ ตามสมควรแก่จริตของตน หมายความว่า พระอรหันต์นั้น หลังจากได้จตุตถฌานกิริยาจิตและฝึกฝนให้เป็นวสี ๕ แล้ว จึงเพ่งอารมณ์กรรมฐาน ๑๒ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่งนั้นต่อไป พร้อมกับทำการกำหนดเปลี่ยนสภาพของสุขเวทนาให้เป็นอุเบกขาเวทนา เนื่องจากสุขเวทนาหรือโสมนัสสเวทนานั้นมีสภาพใกล้เคียงกับปีติ ทำให้ฌานเลื่อนลงไปสู่สภาพของปีติในตติยฌานได้ง่าย ซึ่งจะทำให้สมาธิจิตไม่แนบแน่นอยู่ในอารมณ์นั้นได้นาน เมื่อเปลี่ยนสุขเวทนาให้เป็นอุเบกขาเวทนาได้แล้ว ปัญจมฌานกิริยาจิต ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยองค์ฌาน ๒ คือ อุเบกขา และ เอกัคคตา
อนึ่ง รูปฌานกิริยาจิต ๕ ดวงนี้เกิดขึ้นในขณะที่พระอรหันต์ผู้เป็นรูปฌานลาภีบุคคลฝึกฝนให้ชำนาญเป็นวสีทั้ง ๕ แล้วย่อมสามารถใช้กำหนดเข้าฌานสมาบัติได้ ตามขั้นฌานที่ตนเองได้ เช่นผู้ได้ปฐมฌานย่อมสามารถเข้าได้เฉพาะปฐมฌานเท่านั้น ผู้ได้ถึงทุติยฌานย่อมสามารถเข้าได้ตั้งแต่ปฐมฌานถึงทุติยฌานดังนี้เป็นต้น
สรุปความว่า รูปฌานกิริยาจิตนี้ ย่อมเกิดขึ้นในฐานะ ๔ ประการ คือ
๑. ในขณะที่พระอรหันต์เจริญสมถภาวนาทำให้รูปฌานกิริยาจิตนั้น ๆ เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า อาทิกัมมิกฌาน
๒. ในขณะที่พระอรหันต์รูปฌานลาภีบุคคลนั้นกำหนดเข้าสมาบัติ เรียกว่า ฌานสมาบัติ
๓. ในขณะที่พระอรหันต์รูปฌานลาภีบุคคลนั้นฝึกฝนเป็นบาททำให้เกิดอภิญญา เรียกว่า อภิญญาสมาบัติ [เฉพาะปัญจมฌานกิริยาจิตเท่านั้น]
๔. ในขณะที่พระอรหันต์รูปฌานลาภีบุคคลนั้นเข้าฌานสมาบัติ เพื่อใช้เป็นบาทในการเข้านิโรธสมาบัติ เรียกว่า ปาทกฌาน