| |
กิริยาจิต   |  

กิริยาจิต หมายถึง จิตที่เกิดขึ้นเพียงเพื่อทำหน้าที่ของตน ๆ ให้สำเร็จลงเท่านั้น ไม่มีความเป็นกุศล อกุศลแต่อย่างใด ทั้งไม่ใช่จิตที่เป็นวิบากด้วย มี ๒๐ ดวง ได้แก่ อเหตุกกิริยาจิต ๓ มหากิริยาจิต ๘ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ อรูปาวจรกิริยาจิต ๔ ถ้านับอภิญญากิริยาจิต ๑ ด้วยก็เป็น ๒๑ ดวง เมื่อสรุปแล้วกิริยาจิตมี ๕ ประเภทคือ

๑. อเหตุกกิริยาจิต หมายถึง กิริยาจิตที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ประกอบด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ในบรรดาเหตุ ๖ คือ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ อโลภเหตุ อโทสเหตุ และอโมหเหตุ แต่เป็นกิริยาจิตที่เกิดขึ้นโดยอาศัยความประชุมพร้อมกันแห่งเหตุปัจจัยของตน ๆ ที่เรียกว่า อุปัตติเหตุ อนึ่ง เนื่องจากเป็นกิริยาจิตที่เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่บางอย่างในขณะที่หน้าที่เหล่านั้นปรากฏพร้อมอยู่แล้วและหน้าที่เหล่านั้นเป็นหน้าที่เพียงขอบเขตจำกัด ได้แก่ อาวัชชนกิจ การรับอารมณ์ที่มาถึงพร้อมแล้ว โวฏฐัพพนกิจ การตัดสินอารมณ์ที่ปรากฏอยู่พร้อมแล้ว และหสนกิจ การยิ้มแย้มตอบสนองต่ออารมณ์ที่กิริยาจิตประเภทอื่นได้ทำการพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว

อาวัชชนจิตและโวฏฐัพพนจิตนั้น เป็นจิตของบุคคลทั่วไปทั้งปุถุชนและพระอริยบุคคล ๔ ตามสมควรแก่บุคคลที่มีจิตและทวารเกิดได้ ส่วนหสิตุปปาทจิตนั้น เป็นจิตของพระอรหันต์จำพวกเดียวเท่านั้น

๒. มหากิริยาจิต หมายถึง กิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการปรารภถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ หรือเกิดขึ้นโดยการกระทำบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ มีทาน ศีล ภาวนา เป็นต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง หมายความว่า เป็นจิตของพระอรหันต์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นในขณะกระทำกิจต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากพระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิตใด ๆ เกิดอีกแล้ว ฉะนั้น จิตของท่านจึงเป็นได้เพียงวิปากจิตและกิริยาจิตเท่านั้น ฉะนั้น ที่นอกจากวิปากจิตแล้ว ชวนจิตทั้งหมดของท่านในขณะเป็นอยู่ตามปกติ เป็นมหากิริยาจิตเท่านั้น เพราะเป็นจิตที่ไม่ส่งผลเป็นวิบากต่อไปอีกแล้ว

๓. รูปาวจรกิริยาจิต หมายถึง กิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการเจริญสมถภาวนาจนรูปฌานปรากฏเกิดขึ้น ฉะนั้น รูปฌานของท่านจึงเป็นเพียงกิริยาจิตเท่านั้น เพราะเป็นจิตที่ไม่ส่งผลเป็นวิบากต่อไปอีกแล้ว

๔. อภิญญากิริยาจิต หมายถึง กิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการทำอภิญญาต่าง ๆ ให้เกิดขึ้น และจัดเป็นกิริยาจิตเพราะไม่ส่งผลเป็นวิบากให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

๕. อรูปาวจรกิริยาจิต หมายถึง กิริยาจิตของพระอรหันต์ที่เกิดขึ้นโดยอาศัยการเจริญสมถภาวนาจนอรูปฌานปรากฏเกิดขึ้น ฉะนั้น อรูปฌานของท่านจึงเป็นเพียงกิริยาจิตเท่านั้น เพราะเป็นจิตที่ไม่ส่งผลเป็นวิบากให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

สรุปความแล้ว

กิริยาจิตของปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓ มีได้ ๒ ดวง คือ ปัญทวาราวัชชนจิต ที่ทำหน้าที่อาวัชชนกิจทางปัญจทวาร และ มโนทวาราวัชชนจิต ที่ทำหน้าที่อาวัชชนกิจทางมโนทวารและทำหน้าที่โวฏฐัพพนกิจทางปัญจทวาร

ส่วนพระอรหันต์นั้น สามารถมีกิริยาจิตเกิดได้ทั้ง ๒๐ หรือ ๒๑ ดวง คือ อเหตุกกิริยาจิต ๓ มหากิริยาจิต ๘ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ อภิญญากิริยาจิต ๑ และอรูปาวจรกิริยาจิต ๔ แต่อภิญญากิริยาจิตนั้น ไม่มีจิตดวงอื่นที่พิเศษออกไปต่างหาก ซึ่งได้แก่ รูปาวจรปัญจมฌานกิริยาจิตนั่นเอง ฉะนั้น จึงรวมเป็นกิริยาจิต ๒๐ ดวง ที่สามารถเกิดได้กับพระอรหันต์ ตามสมควรที่จะเกิดได้ หมายความว่า ถ้าพระอรหันต์ท่านใดมีคุณสมบัติในด้านรูปฌาน รูปฌานและอภิญญา กิริยาจิตเหล่านี้ก็สามารถเกิดได้ทั้งหมด แต่ถ้าพระอรหันต์ท่านใด ไม่มีคุณสมบัติในด้านรูปฌาน อรูปฌานและอภิญญา ก็มีแต่อเหตุกกิริยาจิตและมหากิริยาจิตเท่านั้นเกิดขึ้น

จบสรุปความเรื่องจิต


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |