| |
บทสรุปเรื่องโผฏฐัพพารมณ์   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๓๕ ได้แสดงสรุปความเรื่องโผฏฐัพพารมณ์ไว้ดังต่อไปนี้

การกระทบในที่นี้ คือ การที่อารมณ์มีรูปเป็นต้นสัมผัสกับปสาทรูป และการกระทบกระทั่งระหว่างมหาภูตรูปด้วยกันในรูปกลาป การกระทบทั้ง ๒ นั้นไม่มีในอาโปธาตุ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อาโปธาตุวิวชฺชิตํ แปลว่า ยกเว้นอาโปธาตุเสีย

ถามว่า เพราะเหตุใด อาโปธาตุจึงไม่มีการกระทบ ก็บุคคลสัมผัสความเย็นหรือความเหลว [อันเป็นตัวน้ำ] ได้มิใช่หรือ ?

ตอบว่า ความเย็นเป็นเตโชธาตุ มิใช่อาโปธาตุ ถ้าความเย็นเป็นอาโปธาตุ อาโปธาตุก็พึงเกิดในน้ำโลหะที่เดือดพล่าน เพราะในน้ำมีอาโปมาก แต่เพราะมิใช่เช่นนั้น ความเย็นจึงเป็นเตโชธาตุเท่านั้น มิใช่อาโปธาตุ

ความเย็นรู้ได้ว่าเป็นเตโชธาตุ เพราะความเย็นกับความร้อนไม่เกิดในกลุ่มรูปเดียวกัน ทั้งไม่แน่นอนเหมือนฝั่งโน้นกับฝั่งนี้ [กล่าวคือ คนที่ยืนอยู่ที่ฝั่งนี้เรียกฝั่งที่ตนยืนอยู่ว่าฝั่งนี้ และเรียกฝั่งตรงกันข้ามว่าฝั่งโน้น ส่วนคนที่ยืนอยู่ฝั่งโน้น ก็เรียกสลับกันกับคนที่ยืนอยู่ที่ฝั่งนี้] โดยที่แท้แล้ว ความร้อนย่อมไม่เกิดร่วมกับความเย็นในกลุ่มรูปเย็น หรือความเย็นย่อมไม่เกิดร่วมกับความร้อนในกลุ่มรูปร้อน ความสำคัญว่า เย็น ดำรงอยู่ในสิ่งใดก่อน ภายหลังเมื่อพบสิ่งที่เย็นกว่านี้ ความสำคัญว่า ร้อน ย่อมดำรงอยู่ในสิ่งนั้นอีก ความสำคัญว่า ร้อน ในสิ่งที่พบก่อนก็มีนัยเดียวกัน เช่นเดียวกันนี้ ความสำคัญว่า เย็น ย่อมดำรงอยู่ในสิ่งที่ร้อนไม่มาก และความสำคัญว่า ร้อน ก็ดำรงอยู่ในสิ่งที่เย็นไม่มาก

ถ้าอาโปธาตุที่เป็นความเหลวพึงสัมผัสได้ แม้สภาพเกาะกุมในก้อนเหล็กเป็นต้นก็พึงสัมผัสได้เช่นกัน หากเป็นดังนี้ไซร้ อาโปธาตุก็ควรเป็นอารมณ์ของสุขและทุกข์ทางกายโดยปราศจากมหาภูตรูปอื่นได้ เหมือนมหาภูตรูปที่เหลือ ๓ อย่างในมหาภูตรูป ๔ นั้น ย่อมเป็นอารมณ์ของสุขและทุกข์ทางกายโดยเฉพาะ ๆ เว้นจากมหาภูตรูปอื่น [คืออาโปธาตุ] ได้ แต่อาโปธาตุมิได้เป็นเช่นนั้น โดยความจริงแล้ว สุขหรือทุกข์ทางกายซึ่งเกิดแก่ผู้สัมผัสก้อนเหล็กเป็นต้นนั้น ย่อมเกิดโดยเนื่องกันกับความอ่อนหรือความแข็ง โดยเนื่องกันกับความเย็นหรือความร้อน หรือโดยเนื่องกันกับความเบาหรือความหนักของการค้ำจุนภายใน มิใช่เกิดขึ้นโดยประการอื่น บุคคลจึงกระทบมหาภูตรูป ๓ หรือปถวีที่ละเอียดอ่อนประกอบด้วยความเหลวก่อน ต่อมาจึงรู้ความเหลวที่เปียกชุ่มโดยเฉพาะได้ ด้วยกระแสจิตทางใจอย่างเดียว เปรียบเหมือนเมื่อกระทบกับมหาภูตรูป ๓ หรือเห็นสีก่อน แล้วจึงรู้สัณฐานยาวสั้นเป็นต้น รู้วงกลมแห่งดุ้นไฟในยามราตรี และต่อมา ย่อมรู้ช่องรูนั้น ๆ ด้วยกระแสจิตทางใจอย่างเดียว กระนั้นก็ตาม บุคคลผู้ไม่เข้าใจสภาวะที่ต่างกัน เมื่อกระทบรับรู้สิ่งนั้นอยู่ ย่อมสำคัญว่าเรารู้อย่างนี้

[หมายความว่า เมื่อกระทบกับของเหลว เราจะรับรู้มหาภูตรูป ๓ อย่าง คือ ปถวีธาตุที่ละเอียดอ่อนก่อนแล้วจึงรู้ความเหลวได้ทางใจ เหมือนจักขุปสาทรูปเห็นสีได้อย่างเดียว ไม่สามารถรับรู้สัณฐานยาวสั้น ต่อเมื่อเกิดวิถีจิตทางใจล้วน ๆ จึงรับรู้สัณฐานได้ในเวลาต่อมา แต่วิถีจิตเกิดดับรวดเร็วมาก เราจึงคิดว่า กระทบของเหลวด้วยกายปสาทรูปหรือเห็นรูปร่างสัณฐานทางจักขุปสาทรูปได้ แต่ความจริงแล้ว ทั้ง ๒ ประการนี้เป็นการรู้ทางใจเท่านั้น]

บทสรุปของผู้เขียน :

โผฏฐัพพรูปหรือโผฏฐัพพารมณ์ อันได้แก่ สัมผัสต่าง ๆ มีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เป็นต้น ซึ่งมีสภาพที่สามารถกระทบกับกายปสาทได้เป็นคุณลักษณะ มีการเป็นอารมณ์แก่กายวิญญาณจิต อันเป็นหน้าที่ที่สำเร็จมาจากคุณสมบัติเฉพาะตน มีความเป็นอารมณ์ให้แก่กายวิญญาณนั่นเองเป็นผลปรากฏ ที่บัณฑิตสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้ด้วยปัญญา และเป็นรูปธรรมที่จะปรากฏเกิดขึ้นได้ต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด คือ เป็นองค์ประกอบสำคัญ จะเกิดขึ้นโดยลำพังตนเอง หรือเกิดขึ้นโดยปราศจากมหาภูตรูปอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ย่อมไม่มี

โผฏฐัพพรูปหรือโผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ นั้น ย่อมเกิดมาจากสมุฏฐาน ๔ ประการ เพราะฉะนั้น จึงจำแนกเป็น ๔ ประเภทตามสมุฏฐานที่เป็นแดนให้เกิดขึ้น กล่าวคือ

๑. กัมมชโผฏฐัพพรูป คือ โผฏฐพพรูปที่เกิดจากกรรม ได้แก่ สัมผัสที่ปรากฏเกิดขึ้นในอวัยวะของมนุษย์ เทวดา มาร พรหม และสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าที่มีรูปร่างกาย ซึ่งเป็นสัมผัสที่เกิดจากกุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ถ้าเป็นสัมผัสที่อ่อนนุ่ม เย็นสบาย และเบาสบาย ย่อมเป็นสัมผัสที่เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเป็นสัมผัสที่แข็งหยาบกระด้าง ร้อนรุ่ม และหนักหน่วง ย่อมเป็นสัมผัสที่เป็นผลของอกุศลกรรม ซึ่งเป็นไปตามสภาพร่างกายของสัตว์แต่ละประเภท และสัมผัสต่าง ๆ เหล่านั้น ย่อมเป็นที่ต้องการของมนุษย์หรือสัตว์ทั้งหลาย ตามประเภทของบุคคลนั้น ๆ เช่น บางพวกต้องการสัมผัสที่อ่อนนุ่ม เย็นสบาย

๒. จิตตชโผฏฐัพพรูป คือ โผฏฐัพพรูปที่เกิดจากจิต ได้แก่ สัมผัสที่ออกจากอวัยวะในตัวของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย คล้ายกับกัมมชโผฏฐัพพรูป แต่เกิดจากปฏิกิริยาของจิต ซึ่งออกมาในสภาพที่เป็นอุตุชรูป เรียกว่า จิตตปัจจยอุตุชรูป สัมผัสบางครั้ง ย่อมมีสภาพอ่อนนุ่ม เย็นสบาย และหย่อนเบา ทำให้กระทบสัมผัสแล้วมีความสุขกาย โดยอาศัยอำนาจจิตทั้งที่เป็นกุศลหรือจิตที่เป็นอกุศลประเภทโสมนัส สัมผัสบางครั้ง ย่อมมีสภาพแข็งหยาบกระด้าง ร้อนรุ่มหรือเย็นจัด และหนักหน่วง ทำให้กระทบสัมผัสแล้วมีความทุกข์กาย โดยอาศัยอำนาจจิตที่เป็นอกุศล โดยเฉพาะอกุศลที่เป็นโทสมูลจิต ย่อมทำให้เกิดสัมผัสที่มีสภาพเป็นทุกข์ทางกายที่รุนแรงกว่าสัมผัสที่เกิดจากอกุศลจิตเหล่าอื่น ตามแต่กำลังของโทสมูลจิตและกำลังเรี่ยวแรงของสัตว์ประเภทนั้น ๆ

๓. อุตุชโผฏฐัพพรูป คือ สัมผัสที่เกิดจากอุณหภูมิหรือสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้แก่ สัมผัสที่เกิดจากการกระทบเสียดสีกันเองของอวัยวะในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย หรือสัมผัสของสิ่งที่หลุดออกจากร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย มีอุจจาระ ปัสสาวะ เหงื่อไคล น้ำลาย น้ำหมูก เป็นต้น หรือสัมผัสที่กระทบกับอวัยวะของบุคคลอื่น เช่น ร่างกาย แขน ขา ศอก เขา หมัด ฝ่ามือ เป็นต้น และสัมผัสของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายที่นอกจากสัมผัสที่เกิดจากอวัยวะของสัตว์ดังกล่าวแล้ว ได้แก่ สัมผัสแห่งส่วนต่าง ๆ ของแผ่นดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ เป็นต้น

๔. อาหารชโผฏฐัพพรูป คือ โผฏฐัพพะที่เกิดจากอาหาร ได้แก่ สัมผัสที่เกิดจากอาหารภายนอกร่างกายสัตว์ ที่เรียกว่า พหิทธโอชา เช่น ไออุ่นหรือไอเย็นของข้าวปลาอาหาร เป็นต้น ที่บุคคลบริโภคเข้าไป และสัมผัสที่เกิดจากอาหารภายในร่างกายของสัตว์ ที่เรียกว่า อัชฌัตตโอชา ได้แก่ สัมผัสของไฟธาตุที่ย่อยอาหารหรือสัมผัสของน้ำย่อยนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |