| |
พราหมณ์จูเฬกสาฎก   |  

ในเมืองสาวัตถี มีพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อว่า จูเฬกสาฎก เป็นคนยากจนขัดสน เขาอยู่กันสองคนสามีภรรยา มีผ้านุ่งคนละ ๑ ผืน แต่มีผ้าห่มผืนเดียวกัน เวลาจะออกไปทำธุระภายนอกบ้าน พราหมณ์หรือพราหมณีก็จะผลัดเปลี่ยนห่มผ้าห่มผืนนั้นไป ไม่สามารถไปไหนด้วยกันได้ เพราะเมื่อคนหนึ่งห่มผ้า อีกคนหนึ่งก็จะเปลือยเปล่าร่างกายท่อนบน ทำให้อับอายขายหน้าคนทั้งหลาย อยู่ต่อมาวันหนึ่ง พราหมณ์และพราหมณีได้ยินเสียงเขาประกาศการฟังธรรมในวัด พราหมณ์พูดกับภรรยาว่า นี้น้อง เขาประกาศการฟังธรรมแน่ะ เธอจักไปฟังธรรมเวลากลางวัน หรือกลางคืนดีล่ะ เพราะเราทั้งสองไม่สามารถจะไปพร้อมกันได้ เนื่องจากไม่มีผ้าห่ม นางพราหมณีตอบว่า พี่ ฉันขอไปกลางวันดีกว่า เพราะดิฉันเป็นผู้หญิง ไปเวลาค่ำคืนไม่สะดวก ว่าดังนี้แล้วก็ห่มผ้านั้นเดินมุ่งหน้าไปวัด

พราหมณ์รออยู่ที่บ้านตลอดวัน เมื่อตกเย็น ภรรยาก็กลับมา พราหมณ์จึงได้ห่มผ่าผืนนั้นไปวัดในเวลากลางคืน ได้ไปนั่งฟังพระธรรมเทศนาเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดา ในขณะนั้น ปีติ ๕ อย่าง [คือ ขุททกาปีติ ปีติอย่างน้อย ๑ ขณิกาปีติ ปีติชั่วขณะ ๑ โอกกันติกาปีติ ปีติเป็นพัก ๆ ๑ อุพเพงคาปีติ ปีติอย่างโลดโผน ๑ ผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ๑] ได้แผ่ซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กายของพราหมณ์นั้นด้วยกำลังแห่งความศรัทธาในพระธรรมเทศนา เขามีความประสงค์ที่จะบูชาพระบรมศาสดาด้วยอามิสบูชา แต่ไม่มีสิ่งใดจะใช้เป็นเครื่องบูชาเลย เห็นมีแต่ผ้าห่มที่เขาห่มกายอยู่เท่านั้น เขาจึงคิดจะเอาผ้าห่มนั้นบูชาธรรมของพระบรมศาสดา แต่ก็คิดว่า “ถ้าเราจักถวายผ้าห่มผืนนี้ เราและภรรยาจักไม่มีผ้าห่ม ชีวิตคงจะลำบากยิ่งกว่าเป็นอยู่นี้อีก และเราทั้งสองคงไม่อาจออกไปธุระนอกบ้านได้ ขณะนั้น จิตที่ประกอบด้วยความตระหนี่ประมาณพันดวงเกิดขึ้นทับถมเขา จนเขาไม่สามารถที่จะบริจาคผ้าห่มบูชาธรรมได้ หลังจากนั้น สัทธาจิตดวงหนึ่งเกิดขึ้นอีก แต่แล้วจิตตระหนี่พันดวงก็เกิดขึ้นทับถมสัทธาจิตนั้นอีก ความตระหนี่ของเขาซึ่งมีกำลังมากคอยกีดกันสัทธาจิตไว้ เหมือนกับจับมัดไว้ ฉันนั้น

เมื่อเขากำลังคิดอยู่ว่า จักถวาย จักไม่ถวาย ดังนี้ ปฐมยามได้ล่วงเลยไปแล้ว เมื่อถึงมัชฌิมยาม เขาก็ยังไม่สามารถจะถวายได้ เขาใช้จิตเป็นสนามสู้รบกันระหว่างศรัทธากับความตระหนี่ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาเรื่อย จนถึงปัจฉิมยาม เขาจึงคิดว่า เรามัวแต่รบระหว่างสัทธาจิตและมัจเฉรจิตอยู่นั่นแล จนเวลาล่วงไป ๒ ยามแล้ว เมื่อมัจเฉรจิตของเราเจริญงอกงามมีประมาณเท่านี้ ย่อมไม่ให้โอกาสยกศีรษะขึ้นจากอบายทั้ง ๔ ได้ เราจักถวายผ้าสาฎกละ เมื่อคิดได้ดังนั้นแล้ว เขาจึงข่มความตระหนี่ตั้งพันดวงนั้นเล้วทำสัทธาจิตให้เป็นปุเรจาริก [แล่นไปข้างหน้า] ลุกขึ้นถือผ้าห่มไปวางแทบบาทมูลของพระบรมศาสดา แล้วได้เปล่งเสียงดังขึ้น ๓ ครั้งว่า “ชิตํ เม ชิตํ เม ชิตํ เม” เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เราชนะแล้ว

ในขณะนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล กำลังทรงสดับพระธรรมเทศนาอยู่บริเวณนั้น ทรงได้สดับเสียงนั้นแล้ว จึงตรัสว่า พวกเธอจงไปถามพราหมณ์ผู้นั้นดูสิว่า เขาชนะอะไร เมื่อพวกข้าราชบริพารมาถาม พราหมณ์ก็ได้บอกไปว่า “ข้าพเจ้าชนะความตระหนี่ในใจของตน ซึ่งสู้รบกันมาตลอดค่อนคืน เพิ่งจะชนะในปัจฉิมยามนี้เอง จึงได้ร้องว่า ชนะแล้ว ชนะแล้ว ชนะแล้ว

พระเจ้าปเสนทิโกศลได้สดับดังนั้น ทรงดำริว่า พราหมณ์ผู้นี้ทำสิ่งที่บุคคลทำได้ยาก เราจักทำการสงเคราะห์เขา แล้วได้ทรงรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎก ๑ คู่แก่เขา พราหมณ์ได้ถวายผ้าสาฎกนั้นแด่พระตถาคต พระราชาจึงรับสั่งให้พระราชทานทำให้เป็นทวีคูณอีก คือ ๒ คู่ ๔ คู่ ๘ คู่ ๑๖ คู่ เขาได้ถวายผ้าเหล่านั้นแด่พระตถาคตอีก พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงรับสั่งให้พระราชทานผ้าสาฎก ๓๒ คู่แก่เขา

ในขณะนั้น พราหมณ์จูเฬกสาฎกเกรงว่าจะถูกตำหนิว่า “พราหมณ์นี้ไม่ยอมเก็บไว้ใช้สอยด้วยตนเลย สละผ้าที่ได้รับพระราชทานทั้งหมด เหมือนกับไม่เห็นความสำคัญกับของพระราชทาน เมื่อคิดดังนี้แล้ว พราหมณ์จึงได้เก็บผ้าไว้ ๒ ชุด จากผ้า ๓๒ ชุดที่ได้รับพระราชทานครั้งสุดท้าย สำหรับตนเองชุดหนึ่ง สำหรับภรรยาชุดหนึ่ง แล้วได้ถวายผ้าสาฎก ๓๐ คู่ที่เหลือแด่พระตถาคตเจ้า พราหมณ์ในสมัยพระพุทธเจ้าพระนามว่า วิปัสสี มีชื่อว่า มหาเอกสาฎก ได้เกิดเป็นคนยากจนขัดสนเหมือนกับในชาตินี้ และได้รับพระราชทานผ้าสาฏกถึง ๖๔ คู่ เพราะความศรัทธาในพระธรรมเทศนาของพระบรมศาสดาพระองค์นั้น แล้วได้ถือเอาผ้าสาฎก ๒ ชุดในจำนวนผ้าสาฎก ๖๔ คู่นั้น แต่ชาตินี้ เขามีชื่อว่า จูเฬกสาฎก ได้ถือเอาผ้าสาฎก ๒ คู่ จากผ้าสาฎกที่ตนได้รับพระราชทานจำนวน ๓๒ คู่

ฝ่ายพระเจ้าปเสนทิโกศล เมื่อทรงเห็นพราหมณ์จูเฬกสาฎกถวายผ้าที่พระองค์ทรงพระราชทานให้ถึง ๗ ครั้ง จึงทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานอีก จึงทรงรับสั่งพวกราชบุรุษว่า แน่ะพะนาย พราหมณ์ผู้นี้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก น่านับถือน้ำใจนัก พวกท่านจงไปนำผ้ากัมพล ๒ ผืนในวังของเรามา พวกราชบุรุษก็ได้กระทำตามรับสั่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลรับสั่งให้พระราชทานผ้ากัมพล ๒ ผืน ซึ่งมีราคาเป็นแสนแก่พราหมณ์จูเฬกสาฏก พราหมณ์คิดว่า ผ้ากัมพลนี้ไม่สมควรจะห่อหุ้มร่างกายของเราเลย สมควรแก่พระพุทธศาสนาเท่านั้น เมื่อคิดดังนี้แล้ว จึงได้ขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่ง ทำเป็นเพดานไว้ ณ ที่บรรทมของพระบรมศาสดาภายในพระคันธกุฎี และอีกผืนหนึ่งขึงทำเป็นเพดานที่บ้านของตนสำหรับเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์เป็นประจำ

เวลาเย็นวันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทรงเห็นผ้ากัมพลที่ทำเป็นเพดาล ณ พระคันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ก็ทรงจำได้ จึงทูลถามว่า ใครนำผ้ากัมพลนี้มาทำการบูชา พระพุทธเจ้าข้า พระบรมศาสดาตรัสตอบว่า พราหมณ์เอกสาฎก มหาบพิตร พระราชาทรงดำริว่า พราหมณ์นี้เลื่อมใสในผู้ที่เราเลื่อมใสเหมือนกัน จึงรับสั่งให้พระราชทานวัตถุสิ่งของทุกอย่าง อย่างละ ๔ ถึง ๑๐๐ ชนิด แก่พราหมณ์จูเฬกสาฏก คือ ช้าง ๔ เชือก ม้า ๔ ตัว เงินสี่พันกหาปณะ สตรี ๔ นาง ทาสี ๔ นาง บุรุษ ๔ นาย บ้านส่วย ๔ หมู่

เวลาเย็นวันนั้น ภิกษุทั้งหลายได้สนทนากันในโรงธรรมว่า โอ้โฮ ! บุญกุศลของพราหมณ์จูเฬกสาฎก น่าอัศจรรย์จริงหนอ เพียงเวลาครู่เดียวเท่านั้น พราหมณ์จูเฬกสาฏกได้วัตถุสิ่งของอย่างละ ๔ ถึง ๑๐๐ ชนิด เขาได้ทำกรรมอันงามในบุคคลผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ ในบัดนี้ ได้ให้ผลในวันนี้นั่นเอง

พระบรมศาสดาทรงทราบประพฤติเหตุนั้นแล้วจึงเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เธอทั้งหลายนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า ด้วยเรื่องนี้ พระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพราหมณ์จูเฬกสาฎกตัดสินใจถวายผ้าแก่เราตั้งแต่ปฐมยาม เขาจักได้สรรพวัตถุอย่างละ ๑๖ ถ้าเขาตัดสินใจถวายตั้งแต่มัชฌิมยาม เขาจักได้สรรพวัตถุอย่างละ ๘ แต่เพราะเขาชักช้ามาถวายตอนเวลาจวนใกล้รุ่งแล้ว เขาจึงได้สรรพวัตถุอย่างละ ๔ ที่จริงแล้ว เมื่อบุคคลคิดจะกระทำบุญกุศล ไม่ควรปล่อยใจที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาซึ่งกำลังเกิดขึ้นนั้นให้เสื่อมเสียไป ควรรีบทำในทันทีนั้นแหละ เป็นการดี เพราะว่า กุศลที่บุคคลทำช้า เมื่อให้สมบัติ ย่อมให้ช้าเหมือนกัน [ทำบุญช้า ย่อมได้รับผลช้า] เพราะฉะนั้น จึงควรรีบทำกรรมดี ในลำดับที่จิตคิดจะทำนั่นแหละ แล้วได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

อะภิตถะเรถะ กัล๎ยาเณ    ปาปา จิตตัง นิวาระเย
ทันธัง หิ กะระโต ปุญญัง    ปาปัส๎มิง ระมะตี มะโน ฯ

บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี พึงห้ามจิตเสียจากบาป เพราะว่า เมื่อบุคคลทำบุญช้า ใจย่อมยินดีในบาป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |