| |
น้ำปานะ ๘ อย่าง [นัยที่ ๑]   |  

น้ำปานะ ถือว่า เป็นเครื่องดื่มที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามเณร [รวมทั้งภิกษุณี สามเณรี และนางสิกขมานา] ฉันได้ในเวลาวิกาล คือ ตั้งแต่เวลาเที่ยงแล้วไปจนถึงวันใหม่ จัดอยู่ในกาลิกประเภทที่ ๒ เรียกว่า ยามกาลิก แปลว่า ราตรีหนึ่ง หมายความว่า เป็นของที่บรรพชิตในพระพุทธศาสนาสามารถรับประเคนและเก็บไว้ฉันได้วันหนึ่งกับคืนหนึ่ง เลยจากนั้นไป ฉันไม่ได้ เพราะในน้ำปานะเหล่านี้มีปริมาณแอลกอฮออยู่มาก เมื่อเก็บนานย่อมกลายเป็นน้ำเมาไป น้ำปานะเหล่านี้นิยมเรียกว่า อัฏฐบาน แปลว่า เครื่องดื่ม ๘ อย่างรุ.๘๑ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในเกณิยชฎิลวัตถุ เภสัชชขันธกะ มหาวรรค พระวินัยปิฎกเล่มที่ ๕ ดังนี้

๑. อัมพปานะ น้ำมะม่วง

๒. ชัมพุปานะ น้ำผลหว้า

๓. โจจปานะ น้ำกล้วยมีเมล็ด

๔. โมจปานะ น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด

๕. มธุกปานะ น้ำผลมะซาง

๖. มุททิกปานะ น้ำผลองุ่นหรือน้ำลูกจันทน์

๗. สาลุกปานะ น้ำเหง้าบัว

๘. ผารุสกปานะ น้ำผลมะปรางหรือผลลิ้นจี่

ในน้ำปานะเหล่านี้ ว่าโดยสภาวะรูปปรมัตถ์แล้ว ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ที่เป็นสุทธัฏฐกกลาป หรือเป็น ลหุตาทิเอกาทสกกลาป คือ กลุ่มรูป ๑๑ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓ ซึ่งเกิดจากอุตุและอาหารเป็นสมุฏฐาน มีอาโปธาตุคือธาตุน้ำเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีสภาพเอิบอาบและไหลได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |