ไปยังหน้า : |
อกุศลจิตทั้ง ๑๒ ดวง สามารถเกิดได้กับปุถุชนที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ คือ อบายภูมิ ๔ มนุษย์ภูมิ ๑ และเทวภูมิ ๖
อกุศลจิต ๑๐ ดวง [เว้นโทสมูลจิต ๒] สามารถเกิดได้กับปุถุชนที่เกิดอยู่ในรูปภูมิ ๑๐ [เว้นสุทธาวาสภูมิ ๕ อสัญญสัตตภูมิ ๑] ส่วนโทสมูลจิต ๒ ดวงนั้น ถูกข่มทับไว้ด้วยอำนาจฌานสมาบัติตลอดอายุขัยที่เกิดเป็นพรหมอยู่ จะไม่มีโทสมูลจิตเกิดขึ้นเลย
อกุศลจิต ๗ ดวง คือ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ โทสมูลจิต ๒ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ สามารถเกิดได้กับพระโสดาบันและพระสกิทาคามีที่เกิดอยู่ในกามสุคติภูมิ ๗ คือ มนุษยภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ ส่วนทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ และวิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ รวม ๕ ดวงนั้น พระโสดาบันละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหานแล้ว เพราะฉะนั้น พระโสดาบันทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดอยู่ในภพภูมิไหน ก็จะไม่มีจิต ๕ ดวงนี้เกิดขึ้นในสันดานอีกเลย จึงชื่อว่า เป็นผู้ไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา คือ เป็นผู้พ้นแล้วจากอบายภูมิ ๔ และชื่อว่า เป็นผู้เที่ยงต่อกระแสแห่งพระนิพพาน คือ เป็นที่แน่นอนว่าจะได้บรรลุมรรคผลเบื้องสูงขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงอรหัตตมรรค อรหัตตผลเป็นที่สุด
อกุศลจิต ๕ ดวง คือ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ สามารถเกิดได้กับพระโสดาบันและพระสกิทาคามีที่เกิดอยู่ในรูปภูมิ ๑๐ คือ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ เวหัปผลาภูมิ ๑ และในอรูปภูมิ ๔ ส่วนโทสมูลจิต ๒ ดวงนั้น ถูกข่มทับไว้ด้วยอำนาจแห่งฌานสมาบัติ จนตลอดอายุขัยในขณะที่เกิดเป็นพรหมอยู่
อกุศลจิต ๕ ดวง คือ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ สามารถเกิดได้กับพระอนาคามีที่เกิดอยู่ใน ๒๖ ภูมิ คือ กามสุคติภูมิ ๗ รูปภูมิ ๑๕ และในอรูปภูมิ ๔ ส่วนโทสมูลจิต ๒ ดวงนั้น พระอนาคามีละได้โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ตัดขาดจากขันธสันดานแล้ว ไม่มีเกิดขึ้นอีกต่อไป ฉะนั้น พระอนาคามีทั้งหลาย ไม่ว่าจะเกิดอยู่ในภพภูมิไหน ก็ไม่มีโทสมูลจิตเกิดขึ้นอีกเลย
ส่วนพระอรหันต์นั้น ท่านประหาณอกุศลจิตและอกุศลเจตสิกที่เหลือทั้งหมด คือ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ ได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน เพราะฉะนั้น พระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่ว่าท่านจะอยู่ในภพภูมิไหน [หมายเอาพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่] ย่อมจะไม่มีอกุศลจิตและอกุศลเจตสิกเกิดขึ้นในขันธสันดานของท่านอีกเลย จนกว่าจะปรินิพพาน
เพราะฉะนั้น พระโสดาบัน สามารถประหาณอกุศลจิตได้ ๕ ดวง คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ พร้อมด้วยอกุศลเจตสิก ๕ ดวง คือ ทิฏฐิ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ และวิจิกิจฉาโดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน แปลว่า ตัดขาด พร้อมทั้งทำอกุศลจิตและอกุศลเจตสิกที่เหลือให้เบาบางลง ไม่สามารถกำเริบขึ้นมาแสดงอาการอย่างหยาบได้ เรียกว่า ตนุกรปหาน แปลว่า ทำให้เบาบาง
พระสกิทาคามี สามารถประหาณอกุศลจิตและอกุศลเจตสิกที่เหลือจากที่พระโสดาบันประหาณไปแล้วโดยการทำให้เบาบางลงไปอีก เรียกว่า ตนุกรปหาน เท่านั้น
พระอนาคามี สามารถประหาณโทสมูลจิต ๒ ดวง พร้อมด้วยโทสเจตสิก อีก ๑ ดวง โดยการตัดขาดจากขันธสันดาน เรียกว่า สมุจเฉทปหาน
พระอรหันต์ สามารถประหาณอกุศลจิตอีก ๕ ดวง คือ ทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ พร้อมด้วยอกุศลเจตสิกที่เหลือทั้งหมด ๘ ดวง คือ โมหะ อหิริกะ อโนตตัปปะ อุทธัจจะ โลภะ มานะ ถีนะ มิทธะ ซึ่งเป็นการประหาณโดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน
อนึ่ง อกุศลจิตนี้เป็นปหาตัพพธรรม หมายถึง ธรรมที่จะต้องละเสียให้หมดไปจากขันธสันดาน เพราะเป็นสภาพที่มีแต่โทษและให้ผลเป็นความทุกข์โดยส่วนเดียว ย่อมไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่นแต่อย่างใดเลย ฉะนั้น กัลยาณชนบุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย เมื่อรู้ว่า อกุศลจิตนี้ เป็นตัวต้นเหตุให้เกิดอกุศลบาปธรรมทั้งปวงและเป็นต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ แล้ว พึงพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบถึงโทษและผลอันเผ็ดร้อนของอกุศลจิตเหล่านี้ แล้วทำการละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป พยายามสำรวมระวังไม่ให้อกุศลใหม่ได้เกิดขึ้นมาอีก แล้วพากเพียรพยายามสร้างกุศลความดีที่ยังไม่เคยเกิดให้เกิดขึ้น และพยายามรักษากุศลความดีที่เกิดขึ้นแล้วนั้นให้คงอยู่และเจริญยิ่งขึ้นไป เพื่อไม่ให้อกุศลจิตมีโอกาสเกิดขึ้นมาแทรกแซงได้ ทั้งทำให้จิตใจน้อมไปในกุศลความดีได้ง่ายและประณีตยิ่งขึ้นไปโดยลำดับด้วย
จบเรื่องอกุศลจิต