ไปยังหน้า : |
จิต หมายถึง ธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ดังวจนัตถะแสดงว่า “อารมฺมณํ จินฺเตตีติ = จิตฺตํ” แปลความว่า ธรรมชาติใดย่อมคิด ธรรมชาตินั้นชื่อว่าจิต หมายความว่า เป็นธรรมชาติที่ได้รับอารมณ์อยู่เสมอทางทวาร ๖ คือ รับรู้รูปารมณ์คือสีต่าง ๆ [รูป]ทางจักขุทวาร รับรู้สัททารมณ์คือเสียงทางโสตทวาร รับรู้คันธารมณ์คือกลิ่นทางฆานทวาร รับรู้ รสารมณ์คือรสทางชิวหาทวาร รับรู้โผฏฐัพพารมณ์คือการกระทบสัมผัสทางกายทวาร และรับรู้ธัมมารมณ์คือความรู้นึกคิดทางมโนทวาร เหล่านี้จึงเป็นความหมายของจิต ที่ชื่อว่า รู้อารมณ์ ซึ่งมุ่งหมายถึงเพียงการรู้แบบธรรมดาเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการรู้ที่พิเศษพิสดารอะไร ส่วนการรู้แบบพิเศษพิสดารนั้น เป็นการรู้ด้วยธรรมอย่างอื่นเป็นประธาน คือ รู้ด้วยสัญญาและรู้ด้วยปัญญา ฉะนั้น เมื่อสรุปแล้ว ความรู้จึงมี ๓ ประเภท คือ รู้แบบสัญญารู้ รู้แบบปัญญารู้และรู้แบบวิญญาณรู้