ไปยังหน้า : |
รูปาวจรจิต เป็นจิตที่เกี่ยวข้องกับการรับรูปวัตถุ คือ อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรูปฌานและความเป็นรูปภพ รูปพรหม ตลอดถึงบัญญัติอารมณ์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยการเจริญสมถกรรมฐานที่มีรูปบัญญัติเป็นอารมณ์ มีกสิณเป็นต้น จนเข้าถึงความแนบแน่นในอารมณ์เป็นอัปปนาสมาธิ จึงจัดเป็นจำพวกอัปปนาจิตหรือฌานจิต มี ๑๕ ดวง คือ รูปาวจรกุศลจิต ๕ รูปาวจรวิปากจิต ๕ รูปาวจรกิริยาจิต ๕ ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะที่ ๘ ไว้ดังต่อไปนี้
(๘) ปัญจะธา ฌานะเภเทนะ | รูปาวะจะระมานะสัง | |
ปุญญะปากักก๎ริยาเภทา | ตัง ปัญจะทะสะธา ภะเวฯ |
แปลความว่า
รูปาวจรจิต ว่าโดยประเภทแห่งฌานแล้ว มี ๕ ประการ เมื่อจำแนกโดย กุศล วิบาก กิริยาแล้ว มี ๑๕ ประการ
อธิบายความว่า
คาถานี้ แสดงการรวบรวมจิตที่เป็นรูปาวจรทั้งหมด ทั้งได้แสดงการจำแนกชาติของจิตเหล่านี้ด้วย
รูปาวจรจิต หมายถึง จิตที่เข้าถึงความเป็นรูปฌาน หรือหมายถึง จิตที่ท่องเที่ยวเกิดอยู่ในภูมิอันเป็นที่เกิดแห่งรูปวัตถุและรูปกิเลสโดยมาก
รูปวัตถุ หมายถึง อารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับรูปาวจรจิต ๑๕ เจตสิก ๓๕ อันเป็นวัตถุธรรม คือ สภาพที่เป็นอารมณ์ให้จิตรับรู้ได้
รูปกิเลส หมายถึง โลภเจตสิกที่เกี่ยวเนื่องด้วยรูปตัณหาซึ่งเกิดความยินดีพอใจในรูปฌาน อภิญญาและรูปภพ [รูปภพ คือ การเกิดเป็นรูปพรหม]