ไปยังหน้า : |
จิตนี้ ย่อมมีลักษณะที่เป็นไปในอาการต่าง ๆ ที่สามารถบ่งบอกถึงชื่อของจิตได้ มี ๑๐ ประการ คือ
๑. จิตตะ ธรรมชาติที่คิดอารมณ์ หมายถึง ธรรมชาติที่นึกหน่วงอารมณ์ [อยู่ภายในมโนทวาร โดยมโนวิญญาณจิต]
๒. มโน ธรรมชาติที่น้อมไปในอารมณ์ หมายถึง ธรรมชาติที่น้อมนึกไปในอารมณ์ต่าง ๆ แม้จะอยู่ไกลแสนไกล หรือ อารมณ์ที่ละเอียดลึกซึ้งเพียงใดก็ตาม
๓. มานัส ฉันทะที่มีอยู่ในใจ [ใคร่ที่จะรับอารมณ์] หมายถึง ธรรมชาติที่มีความพอใจในการรับอารมณ์ เพราะจิตแต่ละดวงที่เกิดขึ้นมา ต้องมีอารมณ์เป็นเครื่องรองรับให้รับรู้อยู่ทุกดวงไม่มีจิตดวงไหนที่เกิดขึ้นมาเฉย ๆ โดยไม่มีอารมณ์ที่จะรับรู้
๔. หทยะ ธรรมชาติที่รวบรวมอารมณ์ไว้ภายใน หมายความว่า สภาพของจิตนั้น เมื่อได้รับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เสมอ ๆ แล้ว สัมปยุตตธรรมที่ประกอบกับจิต ย่อมจะทำหน้าที่รวบรวมอารมณ์ต่าง ๆ นั้นไว้ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์นั้นอีก ย่อมสามารถที่จะจำได้ หรือเมื่อนึกถึงอารมณ์นั้น ก็สามารถที่จะนึกขึ้นมาได้ง่าย
๕. ปัณฑระ ธรรมชาติที่มีความผ่องใส หมายความว่า ธรรมชาติหรือสภาวะของจิตโดยแท้จริงนั้น เป็นแต่เพียงสภาพที่รับรู้อารมณ์ ที่เรียกว่า อารัมมณวิชชานนลักษณะ แต่ไม่สามารถรู้โดยความเป็นอย่างอื่นที่พิเศษออกไป คือ ไม่สามารถรู้ว่าเป็นสีเขียว สีเหลือง สีแดง สีขาว หรือรู้สิ่งนั้นสิ่งนี้ได้ รู้ได้เพียงสภาพของอารมณ์นั้น ๆ เท่านั้น จึงเป็นสภาพที่ผ่องใส แต่เพราะมีเหตุปัจจัยเข้ามาปรุงแต่ง กล่าวคือ อดีตกรรม เจตสิก อารมณ์และวัตถุ จึงทำให้จิตสามารถรู้พิสดารและมีสภาพแตกต่างออกไปมากมาย ต่าง ๆ ถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ดวง เช่น เมื่อถูกกิเลส คือ อกุศลเจตสิกเข้าไปปรุงแต่ง จึงทำให้จิต มีสภาพเศร้าหมองด้วยอุปกิเลสเหล่านั้น เปรียบเหมือนน้ำธรรมชาติที่มีสีใสบริสุทธิ์ แต่เมื่อเอาสีมาผสมเข้ากับน้ำบริสุทธิ์นั้น จึงทำให้น้ำนั้นแปรสภาพไปเป็นสีต่าง ๆ ตามแต่สีที่นำมาผสมนั้นเช่นเดียวกัน
๖. มนายตนะ ธรรมชาติที่เป็นบ่อเกิดแห่งการรับรู้ทางใจ หมายความว่า การรับรู้อารมณ์ตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิตสัตว์ทั้งหลาย ที่ยังไม่มีประสาทรูปเกิดขึ้นหรือบรรดาอรูปพรหมทั้งหลายนั้น จิตนี้ก็จะทำหน้าที่เป็นมโนทวาร ทำให้เกิดการรับรู้อารมณ์ทางใจด้วยตนเอง ตลอดมาจนถึงความดำเนินไปของชีวิตที่เป็นการรับรู้อารมณ์ภายในมโนทวาร ส่วนหนึ่ง ซึ่งจิตนี้จะทำหน้าที่คิดนึกหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องอาศัยรูปเลย
๗. มนินทรีย์ ธรรมชาติที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในการรู้อารมณ์ หมาย ความว่า สภาพการรับรู้อารมณ์นั้น มีจิตเป็นใหญ่มีใจเป็นประธาน ถึงแม้เจตสิกจะเป็นตัวปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์ก็ตาม แต่ถ้าไม่มีจิตเสียแล้ว เจตสิกก็เกิดขึ้นไม่ได้ อนึ่ง เจตสิกแม้จะเป็นตัวปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์ก็ตาม แต่ต้องเป็นไปตามอำนาจของจิต กล่าวคือ จิตรับอารมณ์อย่างไร เจตสิกก็ต้องรับอารมณ์อย่างนั้นด้วย จะรับอารมณ์อื่นต่างหากจากจิตนั้นไม่ได้
๘. วิญญาณ ธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง สภาพของจิตนั้น เป็นสภาพที่รู้แจ้งอารมณ์ต่าง ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่า รู้กระจ่างแจ้งถูกต้องเสียทุกอย่าง เพียงแต่หมายความว่า เป็นสภาพที่รู้แจ้งโดยความเป็นรูปารมณ์ คือ สีต่าง ๆ สัททารมณ์ คือ เสียงต่าง ๆ เป็นต้นเท่านั้น เรียกว่า รู้แจ้งอารมณ์ หมายถึง รู้โดยไม่มีอาการคลุมเครือในสภาพของอารมณ์นั้น ๆ
๙. วิญญาณขันธ์ หมวดหมู่แห่งธรรมชาติที่รู้แจ้งอารมณ์ หมายความว่า จิตนี้เมื่อถูกปรุงแต่งจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ คือ อดีตกรรม อารมณ์ เจตสิกและวัตถุแล้ว ก็ทำให้มีสภาพแตกต่างกันออกไปมากมายถึง ๘๙ หรือ ๑๒๑ ประการ มีการรับรู้อารมณ์พิสดารออกไป ตามอำนาจแห่งเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่งนั้น แต่เมื่อประมวลรวมกันแล้ว ก็ได้แก่สภาวะที่รู้แจ้งอารมณ์ที่เรียกว่า อารัมมณวิชชานนลักษณะ เหมือนกันนั่นเอง
๑๐. มโนวิญญาณธาตุ สภาพที่ทรงไว้ซึ่งการรู้แจ้งอารมณ์เป็นพิเศษทางใจ หมายความว่า สภาพของจิตที่เป็นมโนวิญญาณธาตุนี้ เป็นสภาวะธรรมชาติที่สามารถรู้อารมณ์ได้วิจิตรพิสดารออกไปมากมาย ตามกำลังความสามารถของจิตดวงนั้น ๆ เพราะได้เหตุปัจจัยสนับสนุนเป็นพิเศษ คือ สภาพของมโนวิญญาณนั้นเป็นนามธรรม และสภาพของมโนทวารคือภวังคจิตก็เป็นนามธรรมด้วยกัน เมื่อนามธรรมกับนามธรรม ผนึกกำลังกัน จึงทำให้มีการรับรู้อารมณ์ได้เป็นพิเศษ ซึ่งต่างจากปัญจวิญญาณธาตุ และมโนธาตุ ที่เกิดทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น และทางกายนั้น ที่อาศัยเกิดเป็นรูปคือปสาทรูป ส่วนจิตนั้นเป็นนาม เป็นวิปปยุตต์ของกันและกัน ฉะนั้น จึงทำให้การรับรู้อารมณ์นั้นมีกำลังน้อย คือ รู้ได้แบบธรรมดาในขณะที่สภาพของรูปปรมัตถ์ปรากฏเป็นอารมณ์ทางทวารนั้น ๆ ในขณะปัจจุบันเท่านั้นเอง ไม่สามารถรู้อดีต อนาคต และกาลวิมุตติอารมณ์ได้