| |
ตามนัยแห่งภูมิ   |  

ความเกิดขึ้นและความเป็นไปของรูปธรรมในภูมิต่าง ๆ นั้น ย่อมมีรูปธรรมได้ตามสมควรแก่ภูมิ และบางภูมิ รูปธรรมย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เลย ดังคาถาสังคหะ [ที่๑๑] แสดงไว้ว่า

อฏฺวีสติ กาเมสุ    โหนฺติ เตวีส รูปิสุ
สตฺตรเสวาสญฺนํ    อรูเป นตฺถิ กญฺจิปิ ฯ

แปลความว่า

ในกามภูมิ ๑๑ รูปทั้ง ๒๘ ย่อมเกิดได้ ในรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ] รูป ๒๓ ย่อมเกิดได้ ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ รูป ๑๗ ย่อมเกิดได้ ในอรูปภูมิ ๔ แม้รูปอะไร ๆ ก็เกิดไม่ได้เลย

คาถานี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงจำนวนรูปที่เกิดได้และเกิดไม่ได้ใน ๓๑ ภูมิ คือ

๑. ในกามภูมิ ๑๑ ได้แก่ อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ รูปธรรมทั้ง ๒๘ ย่อมเกิดได้โดยบริบูรณ์ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน แต่เมื่อว่าโดยบุคคลแล้ว ถ้าเป็นเพศหญิงก็ต้องเว้นปุริสภาวะ ถ้าเป็นเพศชายก็ต้องเว้นอิตถีภาวะ นอกจากนั้น ผู้ใดมีตา หู จูมก เป็นต้น บกพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ก็ต้องเว้นรูปนั้น ๆ ออกไปตามสมควร เช่น ตาบอด หูหนวก หรือเสียฆานประสาท เป็นต้น รูปเหล่านี้ก็ต้องเว้นไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมแล้ว ในกามภูมิ ๑๑ นั้น รูปทั้ง ๒๘ ย่อมเกิดได้ ดังคาถาที่แสดงว่า “อฏฺวีสติ กาเมสุ”

๒. ในรูปภูมิ ๑๕ ได้แก่ ปฐมฌานภูมิ ๓ ทุติยฌานภูมิ ๓ ตติยฌานภูมิ ๓ และจตุตถฌานภูมิ ๖ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑] มีรูปธรรมเกิดได้เพียง ๒๓ รูป กล่าวคือ ในรูปทั้งหมด ๒๘ นั้น รูปธรรมที่เกิดไม่ได้ในรูปภูมิมี ๕ รูป คือ ฆานปสาทรูป ๑ ชิวหาปสาทรูป ๑ กายปสาทรูป ๑ อิตถีภาวรูป ๑ และปุริสภาวรูป ๑ เพราะเหตุที่รูปทั้ง ๕ นี้ เป็นรูปที่สนับสนุนกามคุณอารมณ์โดยส่วนเดียว และบรรดาพรหมทั้งหลายที่เกิดในรูปภูมิทั้ง ๑๕ ภูมิเหล่านั้น ล้วนเป็นบุคคลที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจของรูปฌานกุศล ซึ่งปราศจากกามฉันทะด้วยอำนาจวิกขัมภนปหาน เพราะฉะนั้น รูปทั้ง ๕ นี้ จึงเกิดไม่ได้ในบรรดารูปพรหมทั้งหลาย

ส่วนจักขุปสาทรูปกับโสตปสาทรูปทั้ง ๒ ยังเกิดได้ในรูปพรหมบุคคล เพราะรูปทั้ง ๒ นี้มิได้เป็นปัจจัยสนับสนุนกามคุณอารมณ์อันจะเป็นโทษอย่างเดียว แต่ย่อมให้คุณประโยชน์ได้เป็นอย่างมากอีกด้วย กล่าวคือ ตาหรือจักขุปสาทย่อมมีคุณประโยชน์ในการที่จะได้เห็นการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบของผู้ทรงคุณอันประเสริฐ มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ที่เรียกว่า ทัสสนานุตตริยคุณ หูหรือโสตปสาทรูป ย่อมมีคุณประโยชน์ที่จะให้ได้ฟังธรรมอันประเสริฐและนำให้บรรลุมรรคผลพ้นจากวัฏฏทุกข์ได้ ที่เรียกว่า สวนานุตตริยคุณ ด้วยเหตุนี้ รูปทั้ง ๒ คือ ตาและหูนี้จึงยังเกิดได้กับพวกรูปพรหมในรูปภูมิ ๑๕ ดังกล่าวแล้ว

อนึ่ง จำนวนรูป ๒๓ ดังกล่าวนั้น ย่อมเกิดได้กับพวกรูปพรหมในรูปภูมิ ๑๕ และจะไม่มีรูปอย่างใดอย่างหนึ่งขาดตกบกพร่องไปเหมือนกับพวกกามบุคคล เช่น ตาบอด หรือหูหนวก เป็นต้นเลย แต่ตรงกันข้าม ตาและหูของพวกรูปพรหมกลับมีกำลังความสามารถในการมองเห็นได้ในที่ไกล ๆ และแม้ในรูปารมณ์ที่ละเอียด และหูของพวกรูปพรหมก็มีกำลังความสามารถในการได้ยินเสียงแม้ในที่ไกลแสนไกล และสัททารมณ์ที่มีความละเอียดหรือเสียงลึกลับจนถึงขนาดที่เรียกกันว่า พรหมเป็นผู้มีตาทิพย์ มีหูทิพย์ เพราะฉะนั้น ในจำนวนรูปที่เกิดกับพวกรูปพรหมจึงมีจำนวนแน่นอน ๒๓ รูปบริบูรณ์ ไม่ขาดตกบกพร่อง ดังคาถาสังคหะที่แสดงว่า “โหนฺติ เตวีส รูปิสุ”

๓. ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ ย่อมมีรูปเกิดได้เพียง ๑๗ รูปเท่านั้น ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ ชีวิตรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิการรูป ๓ และลักขณรูป ๔ รูปอื่น ๆ นอกจากนี้ย่อมไม่เกิดในอสัญญสัตตภูมินั้นเลย ทั้งนี้เพราะพวกอสัญญสัตตพรหมทั้งหลายไม่มีนามธรรม กล่าวคือ ไม่มีจิตและเจตสิกเกิดขึ้นเลยนั่นเอง ดังนั้น รูปอันเป็นที่อาศัยเกิดของจิตและเจตสิกจึงไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นกับพวกอสัญญสัตตพรหม ส่วนภาวรูป ๒ ย่อมไม่มีแก่พวกพรหมอยู่แล้ว เพราะพรหมทั้งหลายเป็นผู้ปราศจากกามราคะแล้ว เพราะฉะนั้น ภาวรูปทั้ง ๒ จึงไม่จำเป็นแก่พรหมทั้งหลายอีกแล้ว ด้วยเหตุผลดังกล่าวมานี้ ในอสัญญสัตตภูมิ ๑ จึงมีรูปเกิดได้เพียง ๑๗ รูปเท่านั้น ดังคาถาสังคหะที่แสดงว่า “สตฺตรเสวาสญฺนํ”

๔] ในอรูปภูมิ ๔ ซึ่งเป็นภูมิของพวกอรูปพรหม ซึ่งเป็นผู้ที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจการเจริญปัญจมฌานที่เกี่ยวเนื่องกับรูปวิราคภาวนา คือ ความไม่ยินดีและไม่ปรารถนาในรูปธรรมทั้งปวง เพราะฉะนั้น อรูปพรหมทั้งหลายจึงไม่มีรูปเกิดขึ้นเลย ตลอดทั้งภูมิที่ชื่อว่า อรูปภูมิ ก็ไม่มีรูปอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ดังคาถาสังคหะที่แสดงว่า “อรูเป นตฺถิ กิญฺจิปิ”


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |