ไปยังหน้า : |
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๒๑๕ ได้แสดงคุณสมบัติพิเศษของคันธรูปหรือคันธารมณ์ไว้ดังต่อไปนี้
คันธรูปมีคุณสมบัติพิเศษโดยเฉพาะ ที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ อย่าง มีลักษณะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ ได้แก่
๑. ฆานปฏิหนนลกฺขโณ มีการกระทบกับฆานประสาท เป็นลักษณะ
๒. ฆานวิญฺาณสฺส วิสยภาวรโส มีการเป็นอารมณ์ให้แก่ฆานวิญญาณ เป็นกิจ
๓. ตสฺเสว โคจรปจฺจุปฺปฏฺาโน มีการรู้กลิ่นของฆานวิญญาณ เป็นผลปรากฏ
๔. จตุมหาภูตปทฏฺาโน มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :
จากวิเสสลักษณะหรือลักขณาทิจตุกกะของคันธรูปหรือคันธารมณ์ที่ท่านแสดงไว้ข้างต้นนั้น ผู้เขียนขออธิบายขยายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้
๑. ฆานปฏิหนนลกฺขโณ มีการกระทบกับฆานประสาท เป็นลักษณะ หมายความว่า คันธรูปหรือคันธารมณ์นี้ ย่อมมีสภาวะลักษณะโดยเฉพาะของตน อันเป็นคุณสมบัติพิเศษประจำตัวอยู่เสมอ กล่าวคือ กลิ่นต่าง ๆ อันมีลมพัดพาให้กระจายไปนั้น ย่อมสามารถกระทบกับฆานปสาทรูปได้เท่านั้น ไม่สามารถกระทบกับปสาทรูปอย่างอื่น มีจักขุปสาทรูปเป็นต้นได้เลย นี้จัดเป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอันเป็นสภาวลักษณะของคันธรูปหรือคันธารมณ์คือกลิ่นต่าง ๆ
๒. ฆานวิญฺาณสฺส วิสยภาวรโส มีการเป็นอารมณ์ให้แก่ฆานวิญญาณเป็นกิจหมายความว่า หน้าที่อันเป็นคุณสมบัติ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส ของคันธรูปคือคันธารมณ์นั้น ก็คือ สามารถปรากฏแก่ฆานวิญญาณจิตและฆานทวาริกจิตอื่น ๆ ทั้ง ๔๖ ดวงตามสมควร ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ ดวง [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] โดยอาศัยฆานทวาร ซึ่งหน้าที่นี้ เป็นหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมากับคันธรูปหรือคันธารมณ์โดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่ที่เป็นการขวนขวายเพื่อจะทำ ที่เรียกว่า กิจจรส แต่ประการใด เพราะคันธรูปหรือคันธารมณ์นั้น เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นอัพยากตะ คือ สภาพธรรมที่ไม่มีความขวนขวายเพื่อจะกระทำให้เกิดขึ้น และมีสภาพเป็นอจิตตกะ คือ ไม่มีเจตนาที่จะจัดแจงหรือบงการบังคับบัญชาให้สิ่งใดเกิดขึ้นหรือเป็นไปแต่ประการใด กล่าวคือ คันธรูปหรือคันธารมณ์เอง ก็ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองกระทบกับฆานปสาทหรือมีความต้องการเพื่อจะกระทบกับฆานปสาทแต่ประการใด และฆานปสาทเองก็ไม่มีความรู้สึกว่า ตนเองถูกคันธรูปหรือคันธารมณ์กระทบเข้าแล้ว หรือไม่มีความต้องการเพื่อจะให้คันธรูปหรือคันธารมณ์มากระทบกับตนเช่นเดียวกัน การกระทบกันระหว่างฆานปสาทกับคันธารมณ์นี้ ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อฆานปสาทรูปกับคันธารมณ์อยู่ในสภาพที่สามารถกระทบกันได้ ย่อมกระทบกัน แต่ถ้าทั้ง ๒ อย่างนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกระทบกัน ย่อมกระทบกันไม่ได้ การกระทบกันนี้ล้วนแต่เป็นไปตามสภาพแห่งอนัตตา คือ เป็นไปตามเหตุปัจจัยล้วน ๆ โดยไม่มีใครมาบงการบังคับบัญชาให้เป็นไปแต่ประการใดทั้งสิ้น
๓. ตสฺเสว โคจรปจฺจุปฺปฏฺาโน มีการรู้กลิ่นของฆานวิญญาณหรือมีการเป็นอารมณ์แก่ฆานวิญญาณจิตนั่นเอง เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพแห่งคันธรูปหรือคันธารมณ์นี้ ย่อมปรากฏแก่ฆานวิญญาณจิต ๒ หรือฆานทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ ดวง [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] ทางฆานทวารเท่านั้น จะปรากฏแก่วิญญาณจิตอื่นหรือทวาริกจิตเหล่าอื่น และทางทวารอื่น ที่นอกจากนี้หาได้ไม่ นี้เป็นสภาวลักษณะพิเศษเฉพาะตนที่ปรากฏเป็นผลสำเร็จออกมาของคันธรูปหรือคันธารมณ์ ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติหรือธรรมดา อันเป็นอนัตตาของสภาวธรรมทั้งหลายเท่านั้น คือ ไม่มีบุคคลใดเป็นผู้จัดแจงหรือบงการบังคับบัญชาให้เป็นไปแต่ประการใด เป็นไปตามเหตุปัจจัยล้วน ๆ
๔. จตุมหาภูตปทฏฺาโน มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า บรรดารูปธรรมทั้งหลาย จะเกิดขึ้นโดยลำพังตนเองอย่างเดียวนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ จะต้องเกิดร่วมกันเป็นหมวดหมู่หรือกอง ที่เรียกว่า รูปกลาป ทั้งสิ้น และบรรดาอุปาทายรูปทั้งหลาย ย่อมปรากฏเกิดขึ้นโดยลำพังตนเองไม่ได้ จะต้องอาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นฐานรองรับจึงจะปรากฏเกิดขึ้นได้ คันธรูปหรือคันธารมณ์นี้ก็เป็นหนึ่งในอุปาทายรูป ๒๔ เพราะฉะนั้น คันธรูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นได้ จะต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นฐานรองรับให้ปรากฏเกิดขึ้น เพราะคันธรูปนี้ก็คือกลิ่นของมหาภูตรูปทั้ง ๔ เท่านั้น ถ้าไม่มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่แล้ว กลิ่นของธาตุเหล่านั้น ย่อมปรากฏไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่มีที่อาศัย อนึ่ง ในบรรดากลาปรูปที่มีกลิ่นเกิดร่วมด้วยนั้น ก็มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นองค์ประกอบร่วมด้วยทุกกลาปไป เพราะในกลาปนั้นย่อมมีธาตุดินที่มีสภาพอ่อน มีธาตุน้ำเป็นตัวเกาะกุมรูปทั้งหลายไว้ในกลาปเดียวกัน มีธาตุไฟเป็นไออุ่นหรือเย็น มีธาตุลมทำให้เกิดความเบาและพัดพาไป มีวัณณรูปคือสี มีคันธรูปคือกลิ่น มีรสรูปคือรสต่าง ๆ ซึ่งเป็นกลุ่มอวินิพโภครูป ๘ อันเป็นองค์ประกอบหลักของกลุ่มรูปทุกกลาป เพียงแต่ว่า รูปเหล่านั้นมีปริมาณเบาบาง ไม่ปรากฏชัดเจน ธาตุที่มีปริมาณมากสมดุลกับกลิ่นก็คือธาตุลมซึ่งทำให้กลิ่นสามารถกระจายออกไปได้ แต่เมื่อกลุ่มรูปเหล่านี้มารวมกันในปริมาณที่มาก สภาพแห่งรูปเหล่านั้นย่อมปรากฏชัดเจน กล่าวคือ มีพลังกระทบที่รุนแรง [แข็ง] อันเป็นสภาพแห่งธาตุดิน มีอาการฟุ้งกระจายต่อเนื่อง อันเป็นสภาพแห่งธาตุน้ำที่เกาะกุมรูปทั้งหลายไว้ให้เป็นกุล่มกอง มีอาการอุ่นร้อนหรือเย็นฉ่ำ อันเป็นสภาพแห่งธาตุไฟ มีสภาพฟุ้งกระจายออกไป อันเป็นสภาพแห่งธาตุลม มีสีฟุ้งกระจายเป็นไอสีต่าง ๆ อันเป็นสภาพแห่งวัณณรูป มีกลิ่นปรากฏชัดเจน อันเป็นสภาพแห่งคันธรูป เมื่อกลุ่มรูปเหล่านั้นกระทบที่ประสาทลิ้นของบุคคลใด ย่อมรู้สึกถึงรสต่าง ๆ อันเป็นสภาพแห่งรสรูป ในกลุ่มรูปเหล่านั้นย่อมมีสารอาหารรวมอยู่ด้วย เพราะสารอาหารที่เรียกว่า โอชา นั้นย่อมมีอยู่ทั่วไปในสรรพสิ่งทั้งปวง เพียงแต่ว่าจะเป็นอาหารแก่สัตว์ตนใด เป็นอาหารที่เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์เท่านั้น เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปทั้ง ๔ จึงเป็นเหตุอันใกล้ที่สุดที่จะให้คันธรูปหรือคันธารมณ์นี้ปรากฏเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ เป็นฐานรองรับการเกิดขึ้นของคันธรูปหรือคันธารมณ์ดังกล่าวแล้วนั่นเอง
เมื่อสรุปความแล้ว คุณสมบัติพิเศษของคันธรูปหรือคันธารมณ์คือกลิ่นต่าง ๆ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะหรือลักขณาทิจตุกกะนั้น ได้แก่ ย่อมมีการกระทบกับฆานปสาท เป็นลักษณะ มีการเป็นอารมณ์ให้ฆานวิญญาณ เป็นกิจ มีความเป็นอารมณ์ให้แก่ฆานวิญญาณนั่นเอง เป็นอาการปรากฏ และมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ซึ่งความเป็นไปเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของสภาวธรรมที่เป็นรูปธรรม อันมีสภาพเป็นอัพยากตะ คือ ไม่มีความขวนขวายด้วยตนเอง มีสภาพเป็นอจิตตกะ คือ ไม่มีเจตนาในการจัดแจงหรือบงการบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา และมีสภาพเป็นสังขตธรรม คือ เป็นไปตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อมีเหตุปัจจัย ย่อมปรากฏเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลง ย่อมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเหตุปัจจัยดับ ย่อมดับไปตามเหตุปัจจัย อันเป็นสภาพแห่งอนัตตาล้วน ๆ ไม่มีตัวตนหรือบุคคลใดมาเป็นผู้บงการทั้งสิ้น