| |
มัจฉริยะ มี ๕ อย่าง   |  

๑. อาวาสมัจฉริยะ ตระหนี่ที่อยู่ [หวงอาวาส]

๒. กุลมัจฉริยะ ตระหนี่ตระกูล [หวงตระกูล,หวงโยมอุปัฏฐาก]

๓. ลาภมัจฉริยะ ตระหนี่ลาภ [หวงลาภสักการะ, หวงเงินเดือน]

๔. วัณณมัจฉริยะ ตระหนี่วรรณะ [หวงผิวพรรณ, หวงความงาม, หวงคุณความดี, หวงชาติ ชั้น วรรณะ, หวงยศตำแหน่ง]

๕. ธัมมมัจฉริยะ ตระหนี่ธรรมะ [หวงวิชาความรู้, หวงคุณธรรม]

ดังหลักฐานที่มาในอัฏฐสาลินีอรรถกถา ทุกนิกเขปกถา แสดงอรรถแห่งมัจฉริยะตามไวพจน์ [คำที่มีความหมายคล้ายกันหรือเหมือนกัน] ว่า

ที่ชื่อว่า ความตระหนี่ เพราะเป็นธรรมชาติที่มีความเหนียวแน่น หรือมีอาการเหนียวแน่น ซึ่งเป็นกิริยาของความตระหนี่ สภาพจิตที่ถูกความเหนียวแน่นบงการให้เป็นไป ย่อมเพียบพร้อมด้วยความเหนียวแน่นนั้น ชื่อว่า ความตระหนี่

บุคคลชื่อว่า ผู้หวงแหน เพราะอรรถว่า ไม่ปรารถนาจะให้ทรัพย์สมบัติของตน ซึมซาบไปหรือเปลี่ยนมือไปเป็นของบุคคลอื่น ปรารถนาอยู่ว่า ขอจงเป็นของเราเท่านั้น อย่าได้เป็นของบุคคลอื่นเลย สภาพบุคคลที่เกิดอาการหวงแหนเช่นนั้น ชื่อว่า ความหวงแหน ซึ่งเป็นชื่อของมัจฉริยะอย่างอ่อน

บุคคลผู้ไม่มีความเอื้อเฟื้อ เรียกว่า คนเห็นแก่ตัว สภาพบุคคลผู้เห็นแก่ตัวเช่นนั้น ชื่อว่า ความเห็นแก่ตัว ซึ่งเป็นชื่อของมัจฉริยะอย่างกระด้าง

บุคคลผู้ประกอบด้วยความตระหนี่อย่างอ่อนนั้น ย่อมหวงแหนเฉพาะในทรัพย์สมบัติของตน ย่อมไม่ให้ทานด้วยตนเองเท่านั้น ส่วนบุคคลผู้ประกอบด้วยความเห็นแก่ตัวอย่างกระด้างนั้น ย่อมตระหนี่แม้กระทั่งทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่น ย่อมห้ามมิให้บุคคลอื่นให้ทานแก่คนเหล่าอื่นด้วย [ถ้าให้แก่ตนเองไม่เป็นไร]

บุคคลใดเห็นคนขอแล้วเกิดความคับใจ คือ ห่อเหี่ยวใจด้วยความขมขื่น เพราะเหตุนี้ บุคคลนั้น จึงได้ชื่อว่า กฏุกัญจุโก แปลว่า คนใจคับแคบ สภาพบุคคลที่ใจแคบนั้น ชื่อว่า ความใจคับแคบ อีกนัยหนึ่ง การเป็นคนใจแคบนั้น เปรียบเหมือนเครื่องตักหรือทัพพี เรียกว่า กฏุกัญจุกตา

จริงอยู่ บุคคลเมื่อจะตักข้าวในหม้อซึ่งเต็มเสมอขอบปากหม้อ ถ้าเอาปลายทัพพีซึ่งเป็นส่วนที่แคบกว่าส่วนอื่นทั้งหมดตักเอา ย่อมไม่สามารถตักให้เต็มภาชนะได้โดยเร็ว ฉันใด จิตของบุคคลผู้ตระหนี่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมมีสภาพคับแคบเหมือนปลายทัพพีนั้น เมื่อจิตคับแคบแล้ว กายย่อมคับแคบและถดถอยไม่คลี่คลายตามไปด้วย เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงเรียกบุคคลผู้มีความตระหนี่ว่า กฏุกัญจุกตา แปลว่า คนใจแคบ เหมือนเครื่องตักคือทัพพี

คำว่า ความกั้นจิตไว้ ได้แก่ อาการที่จิตถูกกันเอาไว้โดยไม่ให้คลี่คลายตามอาการในการกระทำอุปการะแก่คนเหล่าอื่น มีการให้ทานเป็นต้น เพราะบุคคลที่ตระหนี่นั้น ย่อมเป็นผู้ไม่อยากให้วัตถุสิ่งของของตนแก่คนเหล่าอื่น อยากแต่จะรับเอาสิ่งของจากคนเหล่าอื่นฝ่ายเดียว เพราะฉะนั้น พึงทราบอาการของความตระหนี่นั้นว่า เป็นธรรมชาติที่มีการซ่อนทรัพย์สมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง มีการยึดถือในคุณสมบัติของตนว่าเป็นสมบัติของตนเป็นลักษณะบ้าง โดยอาการเป็นต้นว่า “ขอความอัศจรรย์นี้จงเป็นของเราเท่านั้น อย่าได้เป็นของบุคคลอื่นเลย” ดังนี้บ้าง

ข้อความดังกล่าว เป็นการตรวจสอบสภาพจิตใจของปุถุชน ผู้ยังไม่ได้ประหาณมัจฉริยะโดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน มีแต่พระอริยบุคคลเท่านั้นที่สามารถประหาณมัจฉริยะได้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน เพราะฉะนั้น ขณะใดที่โทสะ อิสสา หรือมัจฉริยะเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตใจย่อมปราศจากเมตตา บุคคลที่เจริญเมตตาพรหมวิหาร จึงต้องพิจารณาให้ละเอียดรอบคอบ และทำความรู้จักกับสภาพของจิต ขณะที่คิดถึงบุคคลต่าง ๆ จากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง ไม่ควรยินดีอยู่เพียงว่า เราสามารถเมตตาต่อบุคคลบางพวกเท่านั้น แต่จะต้องเป็นผู้ที่ไม่อิ่มไม่พอในการเจริญเมตตาในบุคคลทั้งหลายให้มากยิ่งขึ้น และให้สม่ำเสมอกัน เพื่อดับความตระหนี่ให้หมดไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |