ไปยังหน้า : |
อุทธัจจเจตสิก เป็นธรรมชาติที่มีความฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ หมายความว่า อุทธัจจเจตสิกนี้เป็นสภาวธรรมที่ทำให้สภาพจิตรับอารมณ์ได้ไม่มั่นคง ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่อุทธัจจเจตสิกเกิดร่วมด้วยอ่อนกำลังในการรับอารมณ์ คือ ไม่สงบตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ เพราะเหตุนั้น จึงทำให้สัมปยุตตธรรมที่เป็นอกุศลนั้นซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา และเมื่อเวลาส่งผล ย่อมส่งผลเป็น อเหตุกธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่ประกอบด้วยเหตุ ๖ อย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ โลภเหตุ โทสเหตุ โมหเหตุ หรือ อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ
สภาวธรรมที่เกิดพร้อมกับเหตุ เรียกว่า สเหตุกธรรม ย่อมเป็นสภาวธรรมที่มีกำลังมากและตั้งมั่นในอารมณ์ได้อย่างหนักแน่น แต่อเหตุกธรรมนั้นมีสภาพตรงกันข้ามกับสเหตุกธรรมนั้น เพราะอเหตุกธรรมนั้นมีกำลังน้อยและไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์
อุทธัจจเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่ทำลายความมั่นคงของสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ด้วยเหตุนี้อกุศลกรรมต่าง ๆ ที่บุคคลกระทำด้วยอำนาจอกุศลจิตต่าง ๆ แม้จะมีความรุนแรงเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อส่งผลเป็นวิบากแล้ว ย่อมส่งผลเป็นอเหตุกวิบากจิตอย่างเดียว และนำบุคคลให้เกิดในอบายภูมิ เป็นอเหตุกสัตว์ ซึ่งเป็นผู้มีประสิทธิภาพในการรับรู้หรือรู้สึกผิดชอบชั่วดีได้น้อย และเป็นสัตว์ที่พัฒนาให้เป็นผู้ประเสริฐได้ยาก อนึ่ง วิบากที่เกิดจากอกุศลกรรมทั้งหลาย ย่อมมีกำลังอ่อนกว่าสภาพวิบากที่เป็นผลของกุศลกรรม