ไปยังหน้า : |
มหากุศลจิต หมายถึง จิตที่เป็นกุศลที่มีความกว้างขวาง หมายความว่า เป็นจิตที่มีสภาพกว้างขวางโดยอาการ ๗ อย่าง คือ
๑. กว้างขวางในเรื่องอารมณ์ สามารถรับอารมณ์ได้ทั้ง ๖ หมายความว่า มหากุศลจิตนี้ เป็นจิตที่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ทั้ง ๖ อารมณ์ กล่าวคือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ รับได้ทั้งอารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน อดีต อนาคต และกาลวิมุตติ [คือนิพพานและบัญญัติ] ตามสมควรแก่สภาพของบุคคล กล่าวคือ ถ้าบุคคลนั้น เป็นผู้มีสมรรถภาพในการรับรู้อารมณ์ได้มากและกว้างขวาง มหากุศลจิตของบุคคลนั้น ย่อมสามารถรับรู้อารมณ์ได้มากและกว้างขวาง ถ้าบุคคลนั้น เป็นผู้มีสมรรถภาพในการรับรู้อารมณ์ได้น้อย มหากุศลจิตของบุคคลนั้น ก็มีขอบเขตในการรับรู้อารมณ์น้อยตามไปด้วย
๒. กว้างขวางในเรื่องเวลา หมายความว่า มหากุศลจิตนี้ เป็นจิตที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง มหากุศลชวนวิถี คือ วิถีจิตที่มีมหากุศลชวนะเกิดในทวารทั้ง ๖ นั้น สามารถเกิดติดต่อกันได้เป็นเวลานาน ทั้งเกิดได้ไม่จำกัด แม้เพียงแต่นึกถึงสิ่งที่เป็นกุศล หรือนึกถึงกุศลที่ได้เคยทำไปแล้ว ถ้าในขณะนั้น จิตมีความผ่องใส เจตนามีความบริสุทธิ์แล้ว มหากุศลจิตย่อมเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ ๆ เท่าที่เหตุปัจจัยแห่งกุศลนั้นยังมีอยู่ ซึ่งต่างจากฌานกุศล อภิญญากุศล และโลกุตตรกุศล เพราะฌานกุศลนั้น เกิดได้ในครั้งแรกเพียง ๑ ขณะเท่านั้น ในครั้งต่อ ๆ ไป ต้องฝึกฝนทำให้เกิดขึ้นอีกจนเป็นวสีจึงจะเกิดขึ้นได้เสมอ แต่ต้องใช้ความเพียรพยายามมาก จึงจะทำให้เกิดขึ้นได้ อภิญญากุศลนั้น ย่อมเกิดได้ครั้งละ ๑ ขณะจิตเท่านั้น และต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากจึงจะทำให้เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน ส่วนโลกุตตรกุศลหรือมรรคจิตนั้น มรรคหนึ่ง ๆ เกิดได้เพียงขณะจิตเดียวเท่านั้น สำหรับบุคคลหนึ่ง ๆ ไม่สามารถทำมรรคนั้นให้เกิดขึ้นมาอีกได้ จนกว่าจะทำมรรคจิตที่สูงขึ้นไปให้เกิดขึ้นอีก เป็นเช่น นี้ทุกมรรค ฉะนั้น มหากุศลจิตอย่างเดียวเท่านั้นที่ได้ชื่อว่า กว้างขวางในเรื่องเวลา
๓. กว้างขวางในเรื่องเหตุ สามารถเกิดได้กับบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือสุจริต ๑๐ ประการทั้งหมด หมายความว่า มหากุศลจิตนี้ เป็นจิตที่สามารถปรารภถึงบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ กุศลกรรมบถ ๑๐ หรือสุจริต ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเกิดขึ้นได้ หรือเป็นจิตที่เป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายกระทำบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ และกุศลกรรมบถ ๑๐ หรือสุจริต ๑๐ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งหมดก็ได้ แม้เพียงแต่ปรารภถึงสิ่งเหล่านี้ ด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์แล้ว มหากุศลจิตนี้ย่อมเกิดขึ้นได้
๔. กว้างขวางในเรื่องบุคคล เป็นจิตที่สามารถเกิดได้ในบุคคลทุกจำพวกที่มีจิตเกิด [ยกเว้นพระอรหันต์ที่จิตนั้นมีสภาพเป็นมหากิริยาจิต] หมายความว่า มหากุศลจิตนี้เป็นจิตที่เกิดได้กับบุคคลทั่วไปตั้งแต่ปุถุชน จนถึงพระอนาคามี เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วเท่านั้น จึงจะเปลี่ยนจากมหากุศลจิตเป็นมหากิริยาจิต
๕. กว้างขวางในเรื่องภูมิ สามารถเกิดได้ถึง ๓๐ ภูมิ เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑ เท่านั้น [ซึ่งไม่มีจิตเกิดเลย] หมายความว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดอยู่ในภพภูมิต่าง ๆ ทั้งสัตว์นรก เปรต อสุรกาย เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา มาร พรหม และสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าที่มีจิตเกิดได้นั้น มหากุศลจิตนี้ย่อมสามารถเกิดได้กับสัตว์หรือบุคคลนั้น ๆ ยกเว้นอสัญญสัตตพรหมจำพวกเดียว ที่ไม่มีจิตเกิดเลย มหากุศลจิตนี้จึงเกิดไม่ได้ [และยกเว้นพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่จิตนั้นมีสภาพเป็นมหากิริยาจิตไปแล้วเท่านั้น]
๖. กว้างขวางในเรื่องการให้ผล เป็นจิตที่ให้ผลได้กว้างขวาง หมายความว่า มหากุศลจิตที่บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้ง ๓ กาล คือ บุพเจตนา มุญจนเจตนา และอปรเจตนาแล้ว ย่อมให้ผลเป็นมหาวิบากโดยตรง ดวงต่อดวง คือ มหากุศลจิตดวงที่ ๑ ก็ให้ผลเป็นมหาวิปากจิตดวงที่ ๑ ดังนี้เป็นต้น นอกจากให้ผลเป็นมหาวิบากโดยตรงแล้ว ยังให้ผลเป็นอเหตุกวิบาก ได้แก่ อเหตุกกุศลวิปากจิต ๘ อีกด้วย ฉะนั้น มหากุศลจิตแต่ละดวงนั้น ย่อมให้ผลเป็นวิบากได้ ๙ ดวง คือ มหาวิปากจิตโดยเฉพาะของตนเอง และอเหตุกกุศลวิปากจิตอีก ๘ ดวง
๗. กว้างขวางในเรื่องอานุภาพ เป็นกุศลจิตที่สามารถเป็นบาทเบื้องต้นแห่ง มรรค ผล ฌาน อภิญญาได้ หมายความว่า ก่อนที่ มรรค ผล ฌาน อภิญญา จะเกิดขึ้นนั้น มหากุศลจิต [หรือมหากิริยาจิตสำหรับของพระอรหันต์] ต้องเกิดขึ้นก่อนเสมอ ในวิถีนั้น ๆ แม้ในขณะที่เริ่มเจริญภาวนา ไม่ว่าจะเป็นสมถภาวนาหรือวิปัสสนาภาวนาก็ตาม ตั้งแต่บริกรรมภาวนาและอุปจารภาวนานั้น ในระยะนี้ มหากุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นอยู่เสมอ และมีกำลังแก่กล้าขึ้นตามลำดับ เมื่อได้บรรลุถึงอัปปนาภาวนาแล้วเท่านั้น มหากุศลจิตนี้จึงแปรสภาพเป็นฌานกุศลจิต สำหรับผู้เจริญสมถภาวนา หรือแปรสภาพเป็นโลกุตตรกุศลหรือมรรคจิต สำหรับผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา