| |
ความต่างกันระหว่างปีติกับสุขหรือโสมนัส   |  

อุปมา ปีติ เหมือนบุรุษเดินทางไกลไปในที่กันดาร มีเหงื่อไคลไหลโทรมกาย กระหายน้ำ ครั้นเห็นบุรุษอีกคนหนึ่งเดินผ่านมา ก็ถามว่า มีน้ำดื่มที่ไหนบ้าง บุรุษผู้นั้นตอบว่า พอพ้นดงนี้ไปก็จะพบลำธารน้ำอันใสสะอาดเย็นฉ่ำ ท่านไปที่นั้น ก็จะได้ดื่มน้ำ และอาบน้ำ บุรุษผู้เดินทางไกลนั้น พอได้ยินว่า มีลำธารน้ำ จนกระทั่งเดินไปได้เห็นลำธารน้ำ ย่อมเกิดปีติ มีอาการแช่มชื่นเบิกบานใจตลอดทาง นี้เป็นธรรมชาติของปีติ เมื่อบุรุษนั้นได้ดื่มน้ำหรืออาบน้ำ ก็จะรู้สึกว่า สุขสบายดีจริงหนอ นี้เป็นธรรมชาติของสุขเวทนา หรือ โสมนัสสเวทนา

เมื่อปีติเป็นสภาวธรรมที่เกิดขึ้นทางใจเช่นนี้ จึงมีลักษณะใกล้เคียงกับโสมนัสสเวทนาเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้น ปีติก็ไม่ใช่โสมนัสสเวทนาอยู่นั่นเอง เพราะโสมนัสสเวทนาเป็นเวทนาขันธ์ เกิดได้ในจิต ๖๒ ดวง ส่วนปีติเป็นสังขารขันธ์เกิดได้ในจิต ๕๑ ดวง ผู้ที่เป็นจตุตถฌานลาภีบุคคล คือ ท่านที่ได้บรรลุถึงจตุตถฌาน ตามนัยแห่งปัญจกฌาน [ฌาน ๕] หรือผู้ที่เป็นตติยฌานลาภีบุคคล คือ ท่านที่ได้บรรลุถึงตติยฌาน ตามนัยแห่งจตุกฌาน [ฌาน ๔] ย่อมเห็นความต่างกันแห่งโสมนัสสเวทนาและปีติเจตสิกได้ชัดเจน เพราะในจตุตถฌานนั้น มีสุข หรือ โสมนัส แต่ได้ละปีติไปหมดแล้ว

เพราะฉะนั้น บัณฑิตย่อมพิจารณาเห็นความต่างกันของปีติและสุขได้ชัดเจนว่า ปีติเกิดจากความปลาบปลื้มใจในอารมณ์ที่น่าปรารถนา ส่วนสุขเกิดจากการตามเสวยรสแห่งอารมณ์ที่น่าปรารถนา


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |