| |
การเกิดขึ้นของอเหตุกกุศลวิปากจิต ๘   |  

อเหตุกกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๑ อุเปกขาสหคตัง จักขุวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยจักขุวัตถุรับรูปารมณ์ที่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับรูปที่ดีทางตา หมายความว่า เมื่อรูปารมณ์ คือ รูปต่าง ๆ [หรือสีต่าง ๆ] ที่เป็นอิฏฐารมณ์ [ทั้งอิฏฐมัชฌัตตารมณ์หรืออติอิฏฐารมณ์] ปรากฏทางจักขุทวาร หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณารูปารมณ์นั้นแล้ว จักขุวิญญาณจิต ที่เป็นกุศลวิบากนี้ ก็เกิดขึ้นรับรู้รูปารมณ์นั้นทางจักขุทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตกุศลกรรมของตน เช่น เห็นเพชร นิล จินดา เห็นคนที่รักที่ชอบใจ หรือ เห็นคนทำความดี เป็นต้น จักขุวิญญาณจิต ที่เป็นกุศลวิบากนี้ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความเบา ไม่รุนแรง แม้จะรับอารมณ์ที่ดีมากมายขนาดไหนก็ตาม เปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี คือ เพียงแต่แสงหรือสีกระทบกับจักขุประสาท ซึ่งเป็นการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูปกับอุปาทายรูปเท่านั้น จึงไม่สามารถทำให้เกิดสุขเวทนาได้

อเหตุกกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๒ อุเปกขาสหคตัง โสตวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยโสตวัตถุรับสัททารมณ์ที่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ได้ยินเสียงที่ดีทางหู หมายความว่า เมื่อสัททารมณ์ คือ เสียงต่าง ๆ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ [ทั้งที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์หรืออติอิฏฐารมณ์] ปรากฏทางโสตทวาร หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาสัททารมณ์นั้นแล้ว โสตวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากนี้ก็เกิดขึ้นรับรู้สัททารมณ์นั้นทางโสตทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตกุศลกรรมของตน เช่น ได้ยินเสียงชมเชย เสียงพูดที่ไพเราะอ่อนหวาน หรือได้ยินเสียงธรรม เป็นต้น โสตวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากนี้ ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความเบา ไม่รุนแรงนัก แม้จะรับอารมณ์ที่ดีมากมายขนาดไหนก็ตาม เปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี คือ เพียงแต่คลื่นเสียงกระทบกับโสตประสาท เป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูปเท่านั้น จึงไม่สามารถทำให้เกิดสุขเวทนาได้

อเหตุกกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๓ อุเปกขาสหคตัง ฆานวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยฆานวัตถุรับคันธารมณ์ที่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ได้กลิ่นที่ดีทางจมูก หมายความว่า เมื่อคันธารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ [ทั้งที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ หรือ อติอิฏฐารมณ์] ปรากฏทางฆานทวารแล้ว หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาคันธารมณ์นั้นแล้ว ฆานวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับรู้คันธารมณ์นั้นทางฆานทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตกุศลกรรมของตน เช่น ได้กลิ่นดอกไม้ กลิ่นธูปเทียนของหอม กลิ่นน้ำหอม กลิ่นอาหารที่น่าชอบใจหรือ ได้กลิ่นหอมฟุ้งของเหล่าเทพยดา เป็นต้น ฆานวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิปากจิตนี้ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น แม้จะรับอารมณ์ที่ดีมากมายขนาดไหนก็ตาม เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความเบา ไม่รุนแรงนัก เปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี คือ เพียงแต่กลิ่นกระทบกับฆานประสาท ซึ่งเป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูปเท่านั้น จึงไม่สามารถทำให้เกิดสุขเวทนาได้

อเหตุกกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๔ อุเปกขาสหคตัง ชิวหาวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยชิวหาวัตถุรับรสารมณ์ที่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รู้รสที่ดีทางลิ้น หมายความว่า เมื่อรสารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ที่เป็นอิฏฐารมณ์ [ทั้งที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ หรือ อติอิฏฐารมณ์] ปรากฏทางชิวหาทวาร หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตเกิดขึ้นรับพิจารณารสารมณ์นั้นแล้ว ชิวหาวิญญาณจิต ที่เป็นกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับรู้รสารมณ์นั้นทางชิวหาทวาร ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตกุศลกรรมของตน เช่น ได้ลิ้มรสขนมที่อร่อยกลมกล่อม เป็นต้น อันเป็นที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ หรือ ได้รับประทานอาหารที่ดี มีความประณีต เป็นต้น ชิวหาวิญญาณจิต ที่เป็นกุศลวิบากนี้ เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความเบา ไม่รุนแรง แม้จะรับอารมณ์ที่ดีมากมายขนาดไหนก็ตาม ก็เกิดได้เพียงอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี คือ เพียงแต่สภาพของรสที่ซึมซาบเข้าไปกระทบกับชิวหาประสาท ซึ่งเป็นการกระทบกันของอุปาทายรูปกระทบกับอุปาทายรูปเท่านั้น จึงไม่สามารถทำให้เกิดสุขเวทนาได้

อเหตุกกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๕ สุขสหคตัง กายวิญญาณัง แปลความว่า จิตที่อาศัยกายวัตถุรับโผฏฐัพพารมณ์ที่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยสุขเวทนา ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่รับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ที่ดีทางกาย หมายความว่า เมื่อโผฏฐัพพารมณ์ คือ การกระทบสัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง ที่เป็นอิฏฐารมณ์ [ทั้งที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์หรืออติอิฏฐารมณ์] ปรากฏทางกายทวาร หลังจากปัญจทวาราวัชชนจิตทำหน้าที่รับพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์นั้นแล้ว กายวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากนี้ ก็เกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ที่ดีนั้นทางกาย ซึ่งเป็นอารมณ์ที่เกิดมาจากอดีตกุศลกรรมของตน เช่น ถูกต้องกับแสงแดดอ่อน ๆ ในยามเช้า กระทบกับน้ำที่เย็นสบาย กระทบกับกระแสลมที่พัดมาอ่อน ๆ ในยามเย็น หรือ ได้สวมใส่เสื้อผ้าที่อ่อนนุ่ม เป็นต้น กายวิญญาณจิต ที่เป็นกุศลวิบากนี้ก็เกิดขึ้นพร้อมด้วยสุขเวทนา เพราะการกระทบกันระหว่างทวารกับอารมณ์นั้น มีความหนักหน่วง เนื่องจากมหาภูตรูปคือโผฏฐัพพารมณ์นั้นกระทบกับอุปาทายรูป คือ กายประสาท การกระทบจึงมีความรุนแรง เหมือนค้อนกระทบกับสำลี ซึ่งเป็นการกระทบกันของมหาภูตรูปกระทบกับอุปาทายรูป แต่เนื่องจากอารมณ์นั้นเป็นผลมาจากกุศลกรรม จึงทำให้เกิดสุขเวทนาได้

อเหตุกกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๖ อุเปกขาสหคตัง สัมปฏิจฉนจิตตัง แปลความว่า จิตที่รับปัญจารมณ์ที่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะรับปัญจารมณ์ที่ดีทางปัญจทวาร หมายความว่า หลังจากที่ปัญจวิญญาณจิต คือ จักขุวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิต กายวิญญาณจิต อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นกุศลวิบากเกิดขึ้นรับรู้อารมณ์ที่ดี ซึ่งปรากฏทางทวารของตนโดยเฉพาะ ๆ และดับลงแล้ว สัมปฏิจฉนจิตที่เป็นกุศลวิบากก็เกิดขึ้นรับอิฏฐารมณ์นั้นต่อจากปัญจวิญญาณ [ทั้งที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์หรืออติอิฏฐารมณ์] แล้วจึงส่งให้สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากไต่สวนพิจารณาต่อไป โดยไม่ได้ทำหน้าที่ที่มากไปกว่านี้ จึงเป็นแต่เพียงรับแล้วก็ส่งให้สันตีรณจิตเท่านั้น ฉะนั้น สัมปฏิจฉนจิต ถึงแม้จะเป็นกุศลวิบาก และรับอารมณ์ที่ดีมากน้อยเพียงใด ก็เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เนื่องจากขอบเขตในการทำหน้าที่มีน้อยนั่นเอง

อเหตุกกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๗ อุเปกขาสหคตัง สันตีรณจิตตัง แปลความว่า จิตที่ไต่สวนปัญจารมณ์ที่ดีเกิดขึ้นพร้อมด้วยความเฉย ๆ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ไต่สวนปัญจารมณ์ที่เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า หลังจากที่สัมปฏิจฉนจิตที่เป็นกุศลวิบากรับปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีปานกลาง เรียกว่า อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ต่อจากปัญจวิญญาณจิตที่เป็นกุศลวิบากแล้วส่งต่อมาให้ สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากซึ่งเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนานี้ ก็เกิดขึ้นเพื่อทำหน้าที่ไต่สวนพิจารณาอิฏฐมัชฌัตตารมณ์นั้นว่าเป็นอารมณ์ประเภทไหน เกิดทางทวารใด แล้วจึงส่งให้โวฏฐัพพนจิต [มโนทวาราวัชชนจิต] ที่เป็นอเหตุกกิริยาจิต ตัดสินให้ชวนะเสพต่อไป อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิตนี้เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เนื่องจากสภาพของอารมณ์นั้น เป็นอารมณ์ที่ดีแบบธรรมดา จึงมีความประทับใจน้อย ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดเพียงอุเบกขาเวทนาเท่านั้น เปรียบเหมือนบุคคลที่ได้สิ่งของที่ดีแบบธรรมดา จึงทำให้เกิดความประทับใจน้อย ไม่แสดงอาการชื่นชมโสมนัส เพราะไม่เต็มความปรารถนาที่ตั้งใจไว้ เพียงแต่รู้สึกว่า ก็ดีเหมือนกัน ดีกว่าไม่ได้เลย ดังนี้เป็นต้น

อนึ่ง อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิตนี้ นอกจากทำหน้าที่ไต่สวนอารมณ์ที่เรียกว่า สันตีรณกิจ แล้ว ก็ยังทำหน้าที่อย่างอื่นอีก ๔ อย่าง คือ

๑. ตทาลัมพนกิจ ทำหน้าที่เสพอารมณ์หรือหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ต่อจาก ชวนะ หมายความว่า เมื่อกามชวนะ ๒๙ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ ดวงใดดวงหนึ่ง ของกามบุคคล ในกามภูมิ เสพกามอารมณ์เสร็จไปแล้ว ๗ ขณะ แต่อารมณ์นั้นยังไม่ดับลง ยังเหลืออายุอยู่อีกเท่ากับ ๒ ขณะจิต ตทาลัมพนจิต จึงเกิดขึ้นเสพอิฏฐมัชฌัตตารมณ์นั้นต่อจากชวนะ [ดังกล่าวแล้วในอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ถึงแม้ชวนจิต จะเป็นโทสชวนะก็ตาม]

๒. ปฏิสนธิกิจ ทำหน้าที่นำเกิดในภพภูมิใหม่ ซึ่งเป็นผลของมหากุศลจิตที่บกพร่องด้วยเจตนา ที่เรียกว่า โอมกกุศล นำเกิดเป็นมนุษย์ที่ไม่สมประกอบทางด้านจิตใจหรือทางด้านร่างกายด้วย เช่น บ้า ใบ้ บอด หนวก ปัญญาอ่อนแต่กำเนิด และนำเกิดเป็นเทวดาชั้นต่ำในชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ บุคคล ๒ จำพวกนี้ เรียกว่า สุคติอเหตุกบุคคล ซึ่งมีได้ใน ๒ ภูมิ คือ มนุษย์ภูมิ ๑ และจาตุมหาราชิกาภูมิ ๑

๓. ภวังคกิจ ทำหน้าที่เป็นองค์ของภพ หมายความว่า เป็นจิตที่ทำหน้าที่รักษาภพ คือ รักษาสถานภาพของบุคคลนั้น ๆ ไว้ จนตลอดชีวิต เช่น เมื่อเป็นบ้าหรือปัญญาอ่อนแต่กำเนิดแล้ว แม้จะรักษาหรือบำบัดโดยวิธีการต่าง ๆ ก็ตาม ย่อมไม่สามารถที่จะทำให้ดีเป็นปกติเหมือนกับคนปกติทั่วไปได้ อย่างมากก็เพียงพัฒนาให้ดีขึ้นมาบ้างเท่านั้น และประสิทธิภาพในการพัฒนาศักยภาพนั้นมีน้อย จึงต้องเป็นอยู่อย่างนั้นจนตลอดชีวิต ดังนี้เป็นตัวอย่าง จึงชื่อว่า เป็นองค์ของภพ คือ ธาตุแท้หรือสถานภาพของบุคคลนั้น

๔. จุติกิจ ทำหน้าที่สิ้นจากภพชาติ หมายความว่า ตายจากภพชาติที่เกิดอยู่นั้นไป เมื่อถึงกำหนดกาลที่จะต้องตาย ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งดังกล่าวแล้ว [ในอุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต] อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิตนี้ ย่อมจะทำหน้าที่เป็นครั้งสุดท้าย เรียกว่า จุติกิจ บุคคลนั้นจึงสิ้นสภาพความเป็นสุคติอเหตุกบุคคลทันที และก็ไปเกิดในภพภูมิอื่นอีกต่อไป

สรุปแล้ว อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิตนี้ ทำหน้าที่ ๕ อย่าง คือ สันตีรณกิจ ตทาลัมพนกิจ ปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ และจุติกิจ

อเหตุกกุศลวิปากจิต ดวงที่ ๘ โสมนัสสสหคตัง สันตีรณจิตตัง แปลความว่า จิตที่ไต่สวนปัญจารมณ์ที่ดียิ่งเกิดขึ้นพร้อมด้วยความดีใจ ซึ่งเป็นจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ไต่สวนปัญจารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ทางปัญจทวาร หมายความว่า หลังจากที่สัมปฏิจฉนจิตที่เป็นกุศลวิบากรับปัญจารมณ์ คือ อารมณ์ ๕ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ดียิ่ง ที่เรียกว่า อติอิฏฐารมณ์ แล้วส่งต่อมาให้ สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากที่เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนานี้ ก็เกิดขึ้นไต่สวนพิจารณาอติอิฏฐารมณ์นั้นว่าเป็นอารมณ์ประเภทไหน เกิดทางทวารใด แล้วจึงส่งให้โวฏฐัพพนจิต [มโนทวาราวัชชนจิต] ที่เป็นอเหตุกกิริยาจิตได้ทำการตัดสินให้ชวนะเสพต่อไป โสมนัสสันตีรณจิตนี้เกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา เนื่องจากสภาพของอารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ดียิ่ง หรืออารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง จึงทำให้เกิดความประทับใจมาก ด้วยเหตุนี้ จึงรับไต่สวนด้วยความโสมนัส เปรียบเหมือนบุคคลที่ได้รับสิ่งที่ดีที่น่าประทับใจมาก ย่อมเกิดความชื่นชมโสมนัสเป็นธรรมดา

อนึ่ง โสมนัสสันตีรณจิตนี้ นอกจากทำหน้าที่สันตีรณกิจ คือ ไต่สวนปัญจารมณ์ที่เป็นอติอิฏฐารมณ์ทางปัญจทวารแล้ว ยังทำหน้าที่ตทาลัมพนกิจ คือ หน่วงเหนี่ยวอารมณ์หรือเสพอติอิฏฐารมณ์ต่อจากชวนะ ทางทวาร ๖ อีกด้วย [ถึงแม้ชวนจิตจะเป็นโทสชวนะก็ตาม ตทาลัมพนะที่เป็นโสมนัสย่อมเกิดต่อได้ ยกเว้นบุคคลที่ปฏิสนธิด้วยกามโสมนัส ต้องมีอาคันตุกภวังค์มาเกิดคั่นระหว่างชวนะกับภวังค์ ตทาลัมพนะจึงไม่สามารถเกิดได้] สรุปแล้ว โสมนัสสันตีรณจิตนี้ ทำหน้าที่ ๒ อย่าง คือ สันตีรณกิจและตทาลัมพนกิจ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |