| |
ลักษณะของผู้ที่หนักในโทสจริต ๖ ประการ   |  

๑. โกโธ เป็นผู้มักโกรธ หงุดหงิดรำคาญใจง่าย แม้ในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ควรถือเอาเป็นสาระ ก็เห็นเป็นเรื่องใหญ่โต โกรธกระฟัดกระเฟียดโดยไร้เหตุผล

๒. อุปะนาโห เป็นผู้ผูกโกรธ แม้เป็นความผิดเล็กน้อย ไม่หนักหนาสาหัสอะไร แต่เมื่อโกรธแล้วก็ผูกโกรธเป็นเวลานาน ความดีที่เคยทำต่อกัน ก็ถูกความโกรธเพียงเล็กน้อยนั้นลบล้างเสียสิ้น ละคลายได้ยาก ให้อภัยได้ยาก บางคนผูกโกรธกันไว้จนตลอดชีวิต ทำตนเองให้เป็นทุกข์ร้อนด้วยไฟคือโทสะอยู่เสมอ

๓. มักโข เป็นผู้ลบหลู่คุณท่าน คือ บุคคลผู้เจ้าโทสะนั้น เมื่อโกรธขึ้นมาแล้ว ย่อมขาดสติ ไม่สามารถยั้งคิดพิจารณาให้รอบคอบได้ แม้บุคคลผู้มีบุญคุณ ก็ลบล้างบุญคุณนั้นเสียสิ้น ย่อมคิดดูถูกเหยียดหยาม ความชั่วความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ขุดมาประจานให้ได้รับความเสียหาย หรือมุ่งทำลายบุคคลนั้นให้พินาศย่อยยับไป

๔. ปะลาโส ตีตนเสมอท่าน คือ บุคคลผู้เจ้าโทสะนั้น ย่อมมีนิสัยมักใหญ่ใฝ่สูงมีความทะเยอทะยาน อยากดีอยากเด่นเกินตัว เมื่อเห็นใครได้ดีแล้ว ย่อมทะเยอทะยานหาช่องทางตีตนเสมอท่าน หรือดูถูกเหยียดหยามให้บุคคลนั้นต่ำต้อยเสมอตนหรือเลวทรามยิ่งกว่าตน บุคคลทั้งหลายจะได้ไม่ให้ความสำคัญบุคคลอื่นมากกว่าตน

๕. อิสสา ริษยา คือ บุคคลผู้เจ้าโทสะนั้น มักเป็นคนมักอิจฉาริษยาในทรัพย์สมบัติและคุณความดีของบุคคลอื่น เห็นบุคคลอื่นได้ดีแล้วทนอยู่ไม่ได้ มักอิจฉาตาร้อนด้วยความริษยา ไม่ต้องการเห็นคนอื่นได้ดีมีความสุข ย่อมแสวงหาช่องทางที่จะทำลายทางเจริญของบุคคลนั้นเสีย

๖. มัจฉะริยัง ตระหนี่ คือ บุคคลผู้เจ้าโทสะนั้น มักตระหนี่หวงแหนทรัพย์สมบัติและคุณความดีของตน ไม่ต้องการเห็นบุคคลอื่นดีเหมือนตน รวยเหมือนตน มีความสุขมีหน้ามีตาเหมือนตน และไม่ต้องการให้บุคคลอื่นมาวุ่นวายกับทรัพย์สมบัติหรือคุณสมบัติของตน ย่อมแสดงอาการกีดกั้นหวงแหน บางคนก็แสดงอาการตระหนี่แม้ในทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นหรือของส่วนรวมจนเกินเหตุ ไม่ต้องการให้คนอื่นจับจ่ายใช้สอยทรัพย์สมบัตินั้น กลัวแต่ความสิ้นเปลือง แม้เขาจะใช้สอยในทางที่เป็นประโยชน์ก็ตาม ย่อมเกิดความเสียดายแทนบุคคลอื่น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |