| |
สรุปเรื่องอโนตตัปปเจตสิก   |  

อโนตตัปปเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อกุศลราสี คือ หมวดแห่งอกุศลเจตสิก ๑๔ เป็น โมจตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้งหมด ๑๒ ดวง จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สัพพากุสลสาธารณเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปในอกุศลจิตทั้งหมด

อโนตตัปปเจตสิก เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับอกุศลจิตได้ทั้ง ๑๒ ดวง ครั้นเมื่ออกุศลจิตดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น ย่อมมีอโนตตัปปเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ โดยไม่มีกรณียกเว้น

อโนตตัปปเจตสิกย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๒๖ ดวง [เว้นอโนตตัปปะ] คือ

เมื่อประกอบกับโลภมูลจิต ๘ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๓ โมหะ อหิริกะ อุทธัจจะ โลติกเจตสิก ๓ ถีทุกเจตสิก ๒

เมื่อประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นปีติ] โมหะ อหิริกะ อุทธัจจะ โทจตุกเจตสิก ๔ ถีทุกเจตสิก ๒

เมื่อประกอบกับโมหมูลจิต ๒ ย่อมเกิดพร้อมด้วยอัญญสมานเจตสิก ๑๑ [เว้นปีติและฉันทะ] โมหะ อหิริกะ อุทธัจจะ และวิจิกิจฉา [เฉพาะในโมหมูลจิตดวงที่ ๑ เท่านั้นที่เกิดพร้อมกับวิจิกิจฉาเจตสิก]

อโนตตัปปเจตสิก ย่อมละได้เด็ดขาด ด้วยอำนาจแห่งอรหัตตมรรคญาณ ส่วนมรรคญาณอื่น ย่อมละได้เป็นบางส่วน คือ

โสดาปัตติมรรคญาณ ย่อมละอโนตตัปปเจตสิก ที่ประกอบกับทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๑ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ ได้โดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

สกิทาคามิมรรคญาณ ย่อมละอโนตตัปปเจตสิก ที่ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ โทสมูลจิต ๒ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ โดยการทำให้เบาบาง เรียกว่า ตนุกรปหาน

อนาคามิมรรคญาณ ย่อมละอโนตตัปปเจตสิก ที่ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ โดยทำให้เบาบาง เรียกว่า ตนุกรปหาน และย่อมละอโนตตัปปเจตสิก ที่ประกอบโทสมูลจิต ๒ โดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

อรหัตตมรรคญาณ ย่อมละอโนตตัปปเจตสิก ที่ประกอบกับทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ อุทธัจจสัมปยุตตจิต ๑ โดยเด็ดขาด เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

เพราะฉะนั้น พระอรหันต์เท่านั้น ที่สามารถชำระล้างอโนตตัปปเจตสิกให้หมดสิ้นจากขันธสันดานได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |