| |
อนุสัยกิเลส ๗   |  

อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน กล่าวคือ เป็นเชื้อของกิเลสที่ฝังอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลาย เปรียบเหมือนเชื้อไฟที่อยู่ข้างกล่องไม้ขีดและหัวไม้ขีด ตราบใดที่ยังไม่ได้เหตุปัจจัย อนุสัยกิเลสนี้ก็ยังไม่แสดงปฏิกิริยาออกมา ต่อเมื่อได้เหตุปัจจัยแล้ว จึงแสดงปฏิกิริยาแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส ที่กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจและแปรสภาพเป็นวีติกกมกิเลส ที่ล่วงล้ำออกมาทางกาย ทางวาจา เปรียบเหมือนการเอาหัวไม้ขีดขีดเข้าที่ข้างกล่องไม้ขีด ทำให้เกิดอาการร้อนและไฟลุกติดที่หัวไม้ขีดขึ้นมา อนุสัยกิเลสนี้มีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่สามารถจะรู้ได้ว่ามีอยู่ มี ๗ ประการ คือ

๑. กามราคานุสัย ความยินดีพอใจในกามอารมณ์ทั้งหลาย

๒. ภวราคานุสัย ความยินดีพอใจในภพภูมิต่าง ๆ หรือในภาวะความมี ความเป็น ยศถาบรรดาศักดิ์ หรือ ตำแหน่งหน้าที่การงานต่าง ๆ เป็นต้น

๓. ปฏิฆานุสัย ความโกรธ ความขุ่นเคือง ความประทุษร้าย

๔. ทิฏฐานุสัย ความเห็นผิดจากหลักความเป็นจริง

๕. วิจิกิจฉานุสัย ความสงสัยในเรื่องที่ก่อให้เกิดการลังเลในบุญกุศล

๖. มานานุสัย ความเย่อหยิ่งถือตัวถือตน

๗. อวิชชานุสัย ความไม่รู้สภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง

อนุสัยกิเลสทั้ง ๗ นี้ ต้องประหาณด้วยอำนาจแห่งองค์มรรคในมรรคจิต ซึ่งมีปัญญาเป็นประธาน เป็นการประหาณโดยเด็ดขาด ที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน กล่าวคือ

โสดาปัตติมรรคจิต สามารถประหาณอนุสัยกิเลสได้เด็ดขาด ๒ ประการ คือ ทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน พร้อมทั้งทำอนุสัยกิเลสที่เหลือให้เบาบางจนไม่สามารถเป็นปัจจัยให้แสดงปฏิกิริยาอย่างหยาบออกมา ที่เรียกว่า ตนุกรปหาน

อานาคามิมรรคจิต สามารถประหาณอนุสัยกิเลสได้เด็ดขาดอีก ๒ ประการ คือ กามราคานุสัย และปฏิฆานุสัย ที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน

อรหัตตมรรคจิต สามารถประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลืออีก ๓ ประการได้เด็ดขาด คือ ภวราคานุสัย มานานุสัยและอวิชชานุสัย ที่เรียกว่า สมุจเฉทปหาน เป็นอันสูญสิ้นจากอนุสัยกิเลสทั้งปวง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |