ไปยังหน้า : |
ผู้เขียนได้ประมวลสรุปประเภทของกัมมัญญตาไว้ดังต่อไปนี้
กัมมัญญตารูป เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๓ คือ จิต อุตุ อาหาร ซึ่งปรากฏเกิดขึ้นเฉพาะภายในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย และปรากฏเป็นเพียงอาการเหมาะควรของนิปผันนรูปเท่านั้น กัมมัญญตารูปนี้มีสภาพเป็นธัมมารมณ์ คือ เป็นอารมณ์ที่สามารถรับรู้ได้ทางมโนทวารเท่านั้น ในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั้น กัมมัญญตารูปทั้ง ๓ ย่อมมีสภาพเป็นไปดังต่อไปนี้
๑. จิตตชกัมมัญญตา ได้แก่ ความควรของนิปผันนรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน
๒. อุตุชกัมมัญญตา ได้แก่ ความควรของนิปผันนรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน
๓. อาหารชกัมมัญญตา ได้แก่ ความควรของนิปผันนรูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐาน
มีอธิบายดังต่อไปนี้
๑. จิตตชกัมมัญญตา คือ ความเหมาะควรแก่การงานของนิปผันนรูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐาน เช่น บุคคลที่มีจิตใจสดชื่น มีกำลังใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะอดทนต่อสู้กับการงานต่าง ๆ ไม่มีอาการท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่มีอาการเหน็ดเหนื่อยอ่อนเพลีย ย่อมทำให้ร่างกายเป็นปกติมีความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สามารถผลัดเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ ได้อย่างว่องไว และทำกิจการงานต่าง ๆ ทั้งที่เป็นไปทางกายและทางวาจาได้เป็นอย่างดี
๒. อุตุชกัมมัญญตา คือ ความเหมาะควรแก่การงานของนิปผันนรูปที่เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน เช่น เมื่อบุคคลอยู่ในอุณหภูมิที่พอเหมาะแก่สภาพแวดล้อม ร่างกายก็จะมีสภาพสดชื่นกระปรี้กระเปร่า สามารถผลัดเปลี่ยนอิริยาบถได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว หรือกระทำกิจการงานต่าง ๆ ได้ตามปกติ แต่ถ้าร่างกายอยู่ในอุณหภูมิที่เย็นจัดหรือร้อนจัด ความสดชื่นกระปรี้กระเปร่าก็จะลดน้อยลง ทำให้เกิดความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าอ่อนเพลีย หรืออาพาธป่วยไข้ การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถต่าง ๆ ย่อมไม่คล่องแคล่ว เชื่องช้า อิดโรย ทำให้เกิดความเกียจคร้านท้อแท้เบื่อหน่ายต่อการงานต่าง ๆ
๓. อาหารชกัมมัญญตา คือ ความเหมาะควรแก่การงานของนิปผันนรูปที่เกิดจากอาหาร เช่น รูปร่างกายที่ได้รับอาหารดี มีสารอาหารอุดมสมบูรณ์ ร่างกายย่อมแข็งแรงดี มีความสดชื่นกระฉับกระเฉงกระปรี้กระเปร่า แต่ถ้าร่างกายได้รับแต่อาหารที่ไม่ดีหรือขาดแคลนอาหาร ขาดสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ร่างกายย่อมซูบผอมอิดโรย ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง การผลัดเปลี่ยนอิริยาบถหรือการทำกิจการงานต่าง ๆ ก็จะเชื่องช้าเหนื่อยหน่ายตามไปด้วย