| |
ภาวนา ๓   |  

ภาวนา หมายถึง การอบรม คือ การทำให้มีให้เกิดขึ้นและทำให้เจริญขึ้น มี ๓ ระดับ เหมือนกันกับสมาธิ ดังกล่าวแล้ว คือ

๑. บริกรรมภาวนา หมายถึง การภาวนาในลำดับเริ่มต้น ด้วยการเพ่งบริกรรมหรือนึกหน่วงถึงอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในบรรดาอารมณ์ของสมถภาวนาทั้งหลาย เพื่อให้สมาธิจิตเกิดขึ้นและตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์นั้นเพียงอย่างเดียว หรือการกำหนดพิจารณาสภาพของอารมณ์แห่งวิปัสสนาภาวนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้จิตสงบและวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้น สมาธิที่เกิดขึ้นในภาวนาขั้นนี้ เรียกว่า ขณิกสมาธิ

๒. อุปจารภาวนา หมายถึง ภาวนาที่ได้ทำการอบรมบ่มเพาะสืบเนื่องมาจากบริกรรมภาวนา จนสมาธิมีความสงบประณีตยิ่งขึ้นไปจนถึงขั้นจวนเจียนจะถึงความแนบแน่นในอารมณ์เดียวแล้ว แต่ยังมีการหลุดไปจากอารมณ์นั้นบ้าง หรือยังไม่สามารถประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อภาวนานั้น กล่าวคือ ในฝ่ายสมถภาวนานั้น ยังไม่สามารถประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ได้โดยวิกขัมภนปหาน ส่วนในฝ่ายวิปัสสนานั้น ยังไม่สามารถประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์คืออนุสัยกิเลสได้โดยสมุจเฉทปหาน สมาธิที่เกิดขึ้นในภาวนานี้ เรียกว่า อุปจารสมาธิ

๓. อัปปนาภาวนา หมายถึง ภาวนาที่ถึงขั้นแน่วแน่ จิตถึงความสงบแนบแน่นอยู่ในอารมณ์เดียว อัปปนาจิตย่อมเกิดขึ้นที่อัปปนาภาวนานี้ หรือเป็นสมาธิที่เกิดขึ้นในขณะทำการประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อภาวนานั้นได้เรียบร้อยแล้ว กล่าวคือ ในฝ่ายสมถภาวนานั้น สามารถประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ได้โดยวิกขัมภนปหานแล้ว และในฝ่ายวิปัสสนานั้น สามารถประหาณธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ได้แก่ อนุสัยกิเลสได้โดยสมุจเฉทปหานแล้ว [ยกเว้นสกิทาคามิมรรคประหาณได้เพียงตนุกรปหานเท่านั้น] สมาธิที่เกิดขึ้นในภาวนานี้ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |