ไปยังหน้า : |
ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๕๙๖ ท่านได้แสดงสรุปรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ไว้ดังต่อไปนี้
หทยรูปและอินทริยรูปทั้ง ๙ ชื่อว่า กัมมชรูป [รูปที่เกิดจากกรรม] เพราะเกิดจากกรรมอย่างเดียว ฯ แท้จริง รูปที่เกิดแล้ว กำลังเกิด และจักเกิด ท่านก็เรียกว่า กัมมชรูป เหมือนกัน เหมือนดังอุทาหรณ์ว่า น้ำนมที่เสียแล้ว กำลังเสีย และจักเสีย ท่านเรียกว่า ทุฏฺ [นมเสีย]รุ.๕๙๗ เหมือนกันฉันนั้น
รูปทั้ง ๓ มีลหุตารูปเป็นต้น ไม่จัดเป็นกัมมชรูป เพราะเล็งถึงปัจจัยที่เป็นปัจจุบัน เมื่อถือเอาความโดยประการนอกนี้ ภาวรูป ๒ พึงมีได้ทุกกาล เพราะฉะนั้น ท่านอาจารย์จึงกล่าวว่า รูป ๓ มีลหุตารูปเป็นต้น ย่อมเกิดจากฤดู จิต และอาหาร
รูป ๑๘ อย่าง คือ รูปที่เกิดจากกรรมล้วน ๙ รูป และบรรดาสมุฏฐานที่เกิดทั้ง ๔ รูปที่เกิดแต่กรรมอีก ๙ อย่าง[อวินิพโภครูป ๘ และปริจเฉทรูป ๑] ชื่อว่า กัมมชรูป
รูป ๑๕ อย่าง คือ ด้วยสามารถแห่งวิการรูป ๕ [วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓] เสียง ๑ อวินิพโภครูป ๘ อากาสรูป [ปริจเฉทรูป] ๑ ชื่อว่า จิตตชรูป [รูปที่เกิดจากจิต]
รูป ๑๓ อย่าง คือ เสียง ๑ ลักขณรูป [วิการรูป] ๓ มีลหุตาเป็นต้น อวินิพโภครูป ๘ อากาสรูป [ปริจเฉทรูป] ๑ ชื่อว่า อุตุชรูป [รูปที่เกิดจากฤดู]
รูป ๑๒ อย่าง คือ ด้วยสามารถแห่งรูปมีลักขณรูป [วิการรูป] ๓ มีลหุตารูปเป็นต้น อวินิพโภครูป ๘ อากาสรูป [ปริจเฉทรูป] ๑ ชื่อว่า อาหารชรูป [รูปที่เกิดจากอาหาร]
สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศไว้ว่า ลักขณรูปย่อมไม่บังเกิดจากปัจจัยพวกไหน ๆ เพราะเป็นเพียงสภาพแห่งรูปที่กำลังบังเกิดเป็นต้น คือ รูปที่กำลังบังเกิด กำลังแก่ และกำลังแตกไป กล่าวคือ เพราะเว้นสักว่าสภาพเสียแล้ว ก็ไม่มีลักษณะมีชาติเป็นต้นของตน จริงอยู่ ลักษณะมีชาติเป็นต้นย่อมมีแก่จักษุเป็นต้น ที่ประกอบด้วยอุปปาทขณะเป็นต้น แต่ลักษณะมีชาติเป็นต้น ไม่มีแก่ชาติเป็นต้นอย่างนั้น ถ้าลักษณะมีชาติเป็นต้น พึงมีแก่รูปที่กำลังเกิดเป็นต้นแม้เหล่านั้น อันเป็นเพียงสภาพลักษณะมีชาติเป็นต้นไซร้ ก็จะพึงมีแก่รูปที่กำลังแก่และกำลังแตกสลายเป็นต้น แม้เหล่านั้น ซึ่งเป็นเพียงสภาพลักษณะ เมื่อเป็นอย่างที่ว่ามานี้ ก็ไม่ต้องกำหนดเลย ก็ความที่ชาติเกิดจากปัจจัยบางอย่าง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตไว้ในพระบาลีเป็นต้นว่า ธรรมเหล่านี้ คือ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐัพพายตนะ อากาสธาตุ [ปริจเฉทรูป] อาโปธาตุ ความเบาแห่งรูป ความอ่อนโยนแห่งรูป ความเหมาะแก่การงานของรูป ความเจริญขึ้นแห่งรูป ความสืบต่อแห่งรูป อาหารที่ทำเป็นคำ ๆ มีจิตเป็นสมุฏฐาน ดังนี้ แม้นั้น บัณฑิตพึงทราบว่า ทรงหมายเอาความที่ปัจจัยอันยังรูปให้เกิด อาศัยความเกิดแห่งรูป ไม่ลดละความขวนขวาย เป็นสภาพหาได้ [มีได้] โดยความเป็นวิการแห่งธรรมที่เกิดอยู่ ในขณะที่เข้าถึงความเป็นปัจจัย แม้ในพระบาลีที่ว่า ภิกษุทั้งหลาย ชาติอันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ชรามรณะอันปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น ดังนี้ มีความมุ่งหมาย [มีอธิบาย] อย่างนี้ว่า [ตรัสเช่นนั้น] ก็เพราะเป็นลักษณะแห่งชาติชราและมรณะที่อาศัยเหตุเกิดขึ้น เพราะเหตุนั้น พระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงได้กล่าวไว้ว่า
ความที่ชาติเกิดจากปัจจัยบางอย่างโดยปริยาย [และ] ความ
เป็นสังขตะ สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในธรรม ๓ อย่าง
มีชาติเป็นต้น ในพระบาลี เพราะสังขตธรรม [๓ อย่างมีชาติ
เป็นต้น] เป็นสภาวะ ฯ