| |
สัญญา ๑๐   |  

สัญญาในที่นี้ หมายถึง สัญญาที่เป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมฝ่ายดี เป็นสัญญาเจตสิกที่ประกอบกับกุศลจิต หรือ สเหตุกกิริยาจิตของพระอรหันต์ ซึ่งได้ทำหน้าที่เก็บจำสภาพของอารมณ์ที่ดีไว้ หรือด้วยการกลั่นกรองสภาพของอารมณ์นั้น ๆ ให้เกิดองค์ความรู้ในทางที่ถูกต้อง ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ ไม่ว่าอารมณ์จะเป็นอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ดีก็ตาม หรือ อนิฏฐารมณ์คืออารมณ์ที่ไม่ดีก็ตาม โดยไม่หลงไหลไปตามสมมติบัญญัติของอารมณ์ ฉะนั้น เมื่อสัมปยุตตธรรมที่เป็นกุศล หรือ กิริยาจิตของพระอรหันต์ทำการรับรู้อารมณ์ครั้งใด ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับสภาพของอารมณ์ และสภาพองค์ความรู้ที่ถูกต้องแล้ว สัญญาเจตสิกย่อมทำการป้อนข้อมูลที่เป็นสภาพของอารมณ์และสภาพความรู้สึกต่ออารมณ์นั้นให้แก่สัมปยุตตธรรมเหล่านั้น จึงเป็นเหตุให้บุคคลสามารถรับรู้และมีวิวัฒนาการทางความรู้และความรู้สึกนึกคิดในทางที่เป็นกุศลหรือกิริยาสืบต่อไปได้อย่างมั่นคง และดำเนินไปอย่างละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยลำดับ ดังต่อไปนี้

๑. อะนิจจะสัญญา ความกำหนดหมายว่า ไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งหลาย หมายความว่า เมื่อปัญญาเจตสิกได้ทำการไตร่ตรองพิจารณาสภาพของอารมณ์ที่ได้รับทางทวารต่าง ๆ ซึ่งเป็นสภาพของสังขารธรรมอย่างละเอียดลึกซึ้ง ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แล้ว เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นอนิจจัง คือ มีสภาพที่ไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้นแล้วแปรปรวนไปเป็นธรรมดา สัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่ทำการโยนิโสมนสิการ ย่อมรับรู้สภาพของความไม่เที่ยงของอารมณ์นั้นมา สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความไม่เที่ยงของอารมณ์ไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการป้อนข้อมูลแห่งความไม่เที่ยงของอารมณ์ให้ ฉะนั้น สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกทั้งหลาย แม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมได้รับรู้สภาพของความไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งหลาย ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำไว้ให้นั่นเอง

๒. อะนัตตะสัญญา ความกำหนดหมายว่า ไม่ใช่ตัวตนแห่งธรรมทั้งปวง คือ ไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามอำนาจของตนได้ ย่อมมีความเป็นไปตามสภาวะของธรรมเหล่านั้นเอง หรือ สภาพวะแห่งความไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะของนามธรรมและพระนิพพาน สภาวะเหล่านี้ ได้ชื่อว่า อนัตตา หมายความว่า เมื่อปัญญาเจตสิกได้ทำการไตร่ตรองพิจารณาสภาพของอารมณ์ที่ได้รับทางทวารต่าง ๆ ซึ่งเป็นสภาวธรรมทั้งปวง ทั้งที่เป็นสังขตธรรมก็ดี หรือ อสังขตธรรมก็ดี อย่างละเอียดลึกซึ้ง ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แล้ว เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นอนัตตา คือ เป็นสภาพที่มิใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร หรือสภาพที่ไม่มีตัวตนของนามธรรมและพระนิพพาน ซึ่งไม่มีรูปร่างสัณฐาน ไม่มีสีสันวรรณะ ที่จะกระทบสัมผัสได้โดยประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย แต่สามารถรับรู้ได้โดยมโนทวารคือทางใจ ตามสมควรที่ประสิทธิภาพจะรับรู้ได้ สัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่ทำการโยนิโสมนสิการย่อมรับรู้สภาพความเป็นอนัตตาของอารมณ์นั้นมา สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความเป็นอนัตตาของอารมณ์ไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการป้อนข้อมูลแห่งความเป็นอนัตตาของอารมณ์ให้ เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรมแม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมได้รับรู้สภาพของความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งหลาย ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำไว้นั่นเอง

๓. อะสุภะสัญญา ความกำหนดหมายว่า ไม่งามแห่งสังขารธรรมทั้งหลาย หมายความว่า เมื่อปัญญาเจตสิกได้ทำการไตร่ตรองพิจารณาสภาพของอารมณ์ที่ได้รับทางทวารต่าง ๆ ซึ่งเป็นสภาวะของสังขารธรรมอย่างละเอียดลึกซึ้ง ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แล้ว เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นอสุภะ คือ มีสภาพที่ไม่สวยไม่งาม เพราะมีการคละเคล้าประชุมรวมกันของสภาพธรรมทั้งหลายที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่มีความคงที่ถาวรอยู่แม้เพียงเสี้ยวหนึ่งของวินาที เป็นสภาวะที่ตกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยสภาพของร่างกายอันเป็นรูปธรรม มีสภาพปรากฏโดยความเป็นอสุภะอย่างชัดเจน เพราะเป็นที่หลั่งไหลออกแห่งสิ่งสกปรกต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา ต้องหมั่นบริหารและชำระขัดสีอยู่เสมอ ส่วนสภาพของนามธรรมคือจิตและเจตสิก มีความเป็นอสุภะโดยอ้อม เนื่องจากมีความเกิด แปรปรวนไป และดับไปเป็นธรรมดา ซึ่งบุคคลจะยึดถือเอาเป็นแก่นสารที่มั่นคงไม่ได้ โดยเฉพาะที่เป็นอกุศลธรรม คือ อกุศลจิตและอกุศลเจตสิกด้วยแล้ว เมื่อเกิดขึ้นกับบุคคลใด ย่อมทำให้สภาพจิตใจและหน้าตากิริยาท่าทางตลอดถึงการกระทำ การพูด การคิด ของบุคคลนั้นกลายเป็นอสุภะ คือ มีความเศร้าหมอง ด้วยอำนาจความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น อันไม่เป็นไปเพื่อความเจริญ มีแต่ทำให้ถึงความเสื่อมไปฝ่ายเดียว ซึ่งมีความเป็นอสุภะ คือ เป็นสภาพที่น่ารังเกียจยิ่งกว่ารูปร่างกายเสียอีก เมื่อสัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่ทำการโยนิโสมนสิการโดยอาการอย่างนี้ ย่อมรับรู้สภาพความเป็นอสุภะของอารมณ์นั้นมา สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความเป็นอสุภะของอารมณ์นั้นไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการโดยอาการอย่างนั้นเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการป้อนข้อมูลแห่งความเป็นอสุภะของอารมณ์ให้ เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรมนั้น แม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมรับรู้สภาพของความเป็นอสุภะแห่งสังขารทั้งหลาย ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำไว้ให้นั่นเอง

๔. อาทีนะวะสัญญา ความกำหนดหมายว่า เป็นโทษแห่งสังขารธรรมทั้งหลาย อันมีอาพาธต่าง ๆ เป็นมูล หมายความว่า เมื่อปัญญาเจตสิกได้ทำการไตร่ตรองพิจารณาสภาพของอารมณ์ที่ได้รับทางทวารทั้ง ๖ อันเป็นสภาวะของสังขารธรรมทั้งหลายอย่างละเอียดลึกซึ้ง ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการ แล้ว เกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นอาทีนวะ คือ มีสภาพที่เป็นโทษ เช่น รูปร่างกาย ล้วนมีอาพาธต่าง ๆ เป็นมูล ส่วนจิตและเจตสิกก็ล้วนแต่เป็นอารมณ์ของตัณหา [ยกเว้นโลกุตตรจิตและเจตสิกที่ประกอบ] อันเป็นตัวสมุทัย ที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนี้เป็นต้น สัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่ทำการโยนิโสมนสิการ ย่อมรับรู้สภาพของความเป็นโทษแห่งสังขารธรรมเหล่านั้นมา สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความเป็นโทษแห่งสังขารธรรมไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการป้อนข้อมูลแห่งความเป็นโทษของสังขารธรรมให้ เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรมแม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมรับรู้สภาพของความเป็นโทษแห่งสังขารทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำสภาวะแห่งอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นไว้นั่นเอง

๕. ปะหานะสัญญา ความกำหนดหมายเพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรมทั้งปวง หมายความว่า เมื่อปัญญาที่เป็นโยนิโสมนสิการเกิดพร้อมด้วยสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ได้ทำการกำหนดพิจารณาสภาพของสังขารธรรมทั้งหลายว่ามีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และเป็นอสุภะ มีความเป็นไปเพื่อโทษ ก่อความอาพาธทางกายและอาพาธทางจิตให้อยู่เสมอ เป็นอารมณ์ของตัณหา อันเป็นตัวสมุทัย คือ ต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ ความเดือดร้อนต่าง ๆ ดังนี้เป็นต้น เมื่อได้ทำการพิจารณาเช่นนี้แล้ว ย่อมมีความกำหนดหมายที่จะละตัณหา คือ สลัดความยินดีพอใจ ตัดความติดใจในสภาพของสังขารธรรมเหล่านั้นเสีย สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่ทำการโยนิโสมนสิการ ย่อมรับรู้สภาพของความกำหนดหมายที่จะตัดความยินดีพอใจและความยึดติดในสังขารธรรมเหล่านั้น สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความกำหนดหมายที่จะตัดความยินดีพอใจในสภาพอารมณ์ที่เป็นสังขารธรรมเหล่านั้นไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ย่อมทำการป้อนข้อมูลแห่งความกำหนดหมายในการตัดความยินดีพอใจและความยึดติดในสังขารธรรมให้ เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย แม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมจะได้รับรู้สภาพของความกำหนดหมายในการตัดความยินดีพอใจและความยึดติดในสภาพแห่งสังขาร ทั้งนี้ เป็นเพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำไว้นั่นเอง

๖. วิราคะสัญญา ความกำหนดหมายในธรรมที่คลายกำหนัด คือ อริยมรรคว่า เป็นธรรมอันสงบประณีต หมายความว่า เมื่อปัญญาที่เป็นโยนิโสมนสิการซึ่งเกิดพร้อมด้วยสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ได้ทำการกำหนดพิจารณาสภาพของสังขารธรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ เป็นไปเพื่อโทษ ก่อความอาพาธทางกายและอาพาธทางจิตให้อยู่เสมอ เป็นอารมณ์ของตัณหา อันเป็นตัวสมุทัย คือ ต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ เหล่านี้เป็นต้น ทำการหนดหมายที่จะละตัณหา คือ สลัดความยินดีพอใจ ตัดความติดใจในสภาพของสังขารธรรมเหล่านั้นเสีย ย่อมทำการโยนิโสมนสิการในสังขารธรรมว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ไม่น่าติดใจหลงใหล เพื่อสำรอกราคะ ความกำหนัดยินดีในสภาพสังขารธรรมทั้งปวงให้หมดไปจากจิตใจ ด้วยความกำหนดหมายแห่งวิราคสัญญา สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่ทำการโยนิโสมนสิการโดยอาการอย่างนั้น ย่อมรับรู้สภาพของความกำหนดหมายที่จะสำรอกความกำหนัดยินดีในสังขารธรรม สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความกำหนดหมายที่จะสำรอกความกำหนัดยินดีในสภาพอารมณ์ที่เป็นสังขารธรรมไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการป้อนข้อมูลแห่งความสำคัญหมายในการสำรอกความกำหนัดยินดีในสังขารธรรมให้ เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย แม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมจะรับรู้สภาพของความกำหนดหมายในการสำรอกความกำหนัดยินดีติดใจในสภาพแห่งสังขารอยู่เสมอ ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำไว้นั่นเอง

๗. นิโรธะสัญญา ความกำหนดหมายในนิโรธ คือ พระนิพพานว่า เป็นธรรมอันสงบประณีต หมายความว่า เมื่อปัญญาที่เป็นโยนิโสมนสิการซึ่งเกิดพร้อมด้วยสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย ได้กระทำการกำหนดพิจารณาสภาพของสังขารธรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ เป็นไปเพื่อโทษ ก่อความอาพาธทางกายและอาพาธทางจิตให้อยู่เสมอ เป็นอารมณ์ของตัณหา อันเป็นตัวสมุทัย คือ ต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นต้น พร้อมทั้งได้ทำความกำหนดหมายที่จะละตัณหา คือ สลัดความยินดีพอใจ ตัดความยึดติดในสภาพของสังขารธรรม และได้ทำการโยนิโสมนสิการในสังขารธรรมทั้งหลายว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าพอใจ ไม่น่าติดใจหลงใหล เพื่อสำรอกราคะ คือ ความกำหนัดยินดีในสภาพสังขารธรรมทั้งปวงให้หมดไปจากจิตใจ ด้วยความกำหนดหมายในวิราคสัญญาแล้ว สัมปยุตตธรรมย่อมน้อมไปสู่สภาพแห่งความดับไม่เหลือเชื้อแห่งสภาพสังขารธรรมแล้วเข้าถึงสภาพอันสงบเย็น ซึ่งปราศจากสิ่งปรุงแต่งทั้งปวง ที่เรียกว่า พระนิพพาน เมื่อได้ทำการมนสิการอย่างนี้แล้ว สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับปัญญาซึ่งทำการโยนิโสมนสิการโดยอุบายอย่างนั้น ย่อมรับรู้สภาพของความกำหนดหมายในความดับไม่เหลือแห่งสังขารธรรม สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรม ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความกำหนดหมายในความดับไม่เหลือแห่งสังขารธรรมทั้งหลาย หรือในความสงบปราศจากสังขารธรรมเหล่านั้นไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรม ย่อมป้อนข้อมูลแห่งความกำหนดหมายในความดับไม่เหลือแห่งสังขารธรรมและความสงบจากสังขารธรรมให้ เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย แม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมจะได้รับรู้สภาพของความกำหนดหมายในความดับไม่เหลือแห่งสังขารธรรมทั้งหลาย และความสงบที่ปราศจากสภาพแห่งสังขารทั้งหลาย ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำไว้ให้นั่นเอง

๘. สัพพะโลเก อะนะภิระตะสัญญา ความกำหนดหมายว่า ไม่น่าเพลิดเพลินในโลกทั้งปวง หมายความว่า เมื่อปัญญาที่เป็นโยนิโสมนสิการซึ่งเกิดพร้อมด้วยสัมปยุตตธรรมได้ทำการกำหนดพิจารณาสภาพของสังขารธรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ เป็นไปเพื่อโทษ ก่อความอาพาธทางกายและอาพาธทางจิตให้อยู่เสมอ เป็นอารมณ์ของตัณหา อันเป็นตัวสมุทัย คือ ต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นต้น ได้กระทำความกำหนดหมายที่จะละตัณหา คือ สลัดความยินดีพอใจ ตัดความยึดติดในสภาพของสังขารธรรม ทำการกำหนดหมายในการสำรอกราคะ คือ ความกำหนัดยินดีในสภาพสังขารธรรมทั้งปวงให้หมดไปจากจิตใจด้วยความกำหนดหมายแห่งวิราคสัญญาแล้ว ย่อมทำการพิจารณาสรรพสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของ ล้วนแต่เป็นสภาพของสังขารธรรมทั้งสิ้น มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ เมื่อพิจารณาเห็นตามเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ย่อมทำให้เกิดปัญญารู้เห็นว่า สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีไม่น่าเพลิดเพลินหลงใหลแต่อย่างไร เพราะไม่มีแก่นสารที่จะยึดถือเอาเป็นสาระได้ แล้วจึงทำความกำหนดหมายในโลกทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีไม่น่าเพลิดเพลิน เมื่อเป็นเช่นนี้ สัมปยุตตธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่ทำการโยนิโสมนสิการโดยอุบายอย่างนี้ ย่อมรับรู้สภาพของความกำหนดหมายในโลกทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีไม่น่าเพลิดเพลิน สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้น ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความกำหนดหมายในโลกทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีไม่น่าเพลิดเพลินไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรม ย่อมทำการป้อนข้อมูลแห่งความกำหนดหมายในโลกทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีไม่น่าเพลิดเพลินให้ เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย แม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมได้รับรู้สภาพของความกำหนดหมายในโลกทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีไม่น่าเพลิดเพลิน ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำไว้นั่นเอง

๙. สัพพะสังขาเรสุ อะนิฏฐะสัญญา ความกำหนดหมายในสังขารทั้งปวงว่า เป็นอารมณ์ที่ไม่น่ายินดี ไม่น่าปรารถนา หมายความว่า เมื่อปัญญาที่เป็นโยนิโสมนสิการซึ่งเกิดพร้อมด้วยสัมปยุตตธรรมทั้งหลายได้ทำการกำหนดพิจารณาสภาพของสังขารธรรมโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะ เป็นไปเพื่อโทษ ก่อความอาพาธทางกายและอาพาธทางจิตให้อยู่เสมอ เป็นอารมณ์ของตัณหา อันเป็นตัวสมุทัย คือ ต้นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนต่าง ๆ เป็นต้น ได้กระทำความกำหนดหมายที่จะละตัณหา คือ สลัดความยินดีพอใจ ตัดความยึดติดในสภาพของสังขารธรรมทั้งปวง และทำการกำหนดหมายในการสำรอกราคะ คือ ความกำหนัดยินดีในสภาพสังขารธรรมให้หมดไปจากจิตใจ ด้วยความกำหนดหมายแห่งวิราคสัญญาแล้ว ย่อมทำการพิจารณาสิ่งทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ บุคคล หรือวัตถุสิ่งของใด ๆ ล้วนแต่เป็นสภาพของสังขารธรรมทั้งสิ้น มีความเป็นไปตามเหตุปัจจัยอยู่เนืองนิตย์ จนเกิดความรู้ความเห็นด้วยปัญญาอันยิ่งว่า สิ่งทั้งปวงเป็นสิ่งที่ไม่น่าเพลิดเพลินหลงใหลแต่อย่างไร เพราะไม่มีแก่นสารที่จะยึดถือเอาเป็นสาระได้ และได้ทำความกำหนดหมายในโลกทั้งปวงนั้นว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่ายินดีไม่น่าเพลิดเพลิน เมื่อได้เห็นโลกโดยความไม่น่าเพลิดเพลินแล้ว ย่อมชื่อว่า ได้เห็นสังขารธรรมทั้งปวงโดยความเป็นอนิฏฐะ คือ เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าชอบใจไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับปัญญาที่ทำการโยนิโสมนสิการโดยอาการอย่างนั้น ย่อมรับรู้อาการของความกำหนดหมายในสังขารธรรมทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรม ย่อมทำการบันทึกเก็บจำสภาพความกำหนดหมายในสังขารธรรมทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไว้ และเมื่อสัมปยุตตธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโยนิโสมนสิการเกิดขึ้นครั้งใด สัญญาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมนั้นย่อมทำการป้อนข้อมูลแห่งความกำหนดหมายในสังขารธรรมทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาให้ เพราะฉะนั้น สัมปยุตตธรรมทั้งหลาย แม้จะเกิดขึ้นและดับไปอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเกิดขึ้นครั้งใด ย่อมจะได้รับรู้สภาพของความกำหนดหมายในสังขารธรรมทั้งปวงว่า เป็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาได้ทำการเก็บจำไว้นั่นเอง

๑๐. อานาปานัสสะติสัญญา ความกำหนดหมายในการระลึกรู้ลมหายใจเข้าออก หมายความว่า การกำหนดหมายที่จะตั้งสติไว้ที่อาการเป็นไปของลมหายใจเข้าออก เพื่อให้รู้ทั่วถึงและเท่าทันสภาพของลมหายใจเข้าออก คือ หายใจเข้ายาว ก็รู้ว่า หายใจเข้ายาว หายใจเข้าสั้น ก็รู้ว่า หายใจเข้าสั้น หายใจออกยาวก็รู้ว่าหายใจออกยาว หายใจออกสั้น ก็รู้ว่า หายใจออกสั้น ดังนี้เป็นต้น เพื่อให้สติจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกนั้น ไม่หลุดหายไปหรือซัดส่ายไปในอารมณ์อื่น ทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นและมีกำลังแรงกล้ายิ่งขึ้นโดยลำดับ เป็นเหตุให้สมาธิมีกำลังแนบแน่นในลมหายใจเข้าออก ตามลำดับ ตั้งแต่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ จนถึงอัปปนาสมาธิ [สำหรับบุคคลที่มีบุญบารมีทางสมถภาวนาในการกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์] ย่อมทำให้เกิดฌานสมาบัติได้ เป็นผลอานิสงส์ให้ได้เสวยความสุขในฌานสมาบัติ อันเป็นทิฏฐธัมมิกสุขคือความสุขที่ได้ประสบในภพปัจจุบัน และถ้าฌานไม่เสื่อม เมื่อตายไปแล้ว ย่อมให้ได้เสวยทิพยสุขในพรหมโลก ตามสมควรแก่ฌานที่ตนได้ และฌานลาภีบุคคลสามารถใช้อานาปานฌานเป็นบาทในการเจริญวิปัสสนากรรมฐานได้ คือ เมื่อออกจากฌานแล้ว กำหนดพิจารณาสภาพองค์ฌานโดยความเป็นไตรลักษณ์ ถ้ามีบุญบารมีในทางมรรคผล ย่อมสามารถบรรลุมรรคผลได้ อันเป็นปรมัตถะ คือ ประโยชน์อย่างยิ่งทำให้ตัดการเวียนว่ายตายเกิดลงได้ ตามสมควรแก่กำลังบารมีของตน เพราะฉะนั้น ความกำหนดหมายในการกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ ย่อมมีประโยชน์มีอานิสงส์นานัปประการหาที่สุดมิได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |