| |
การปรารภความเพียร ๘ ประการ   |  

ในเรื่องการปรารภความเพียรเพื่อกำจัดถีนมิทธะนี้ พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงแนวทางไว้ ๘ ประการ ดังนี้

๑. เมื่อเริ่มจะลงมือทำงาน พึงปลูกความคิดอย่างนี้ให้เกิดขึ้นว่า เราจะต้องทำงานแล้ว เมื่อเราทำงาน เราอาจไม่สะดวกที่จะสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่ากระนั้นเลย เราควรปรารภความเพียร สำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น แล้วปรารภความเพียรด้วยเรี่ยวแรงทั้งกายใจอันมั่นคงต่อไป

๒. เมื่อทำงานเสร็จแล้ว พึงปลูกความคิดอย่างนี้ให้เกิดขึ้นว่า เราได้ทำการงานเสร็จแล้ว ในขณะที่เราทำงานอยู่นั้น เราไม่สะดวกที่จะสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรจะปรารภความเพียร สำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น แล้วปรารภความเพียรด้วยเรี่ยวแรงทั้งกายใจอันมั่นคงต่อไป

๓. เมื่อจะต้องเดินทาง พึงปลูกความคิดอย่างนี้ให้เกิดขึ้นว่า เราจะต้องเดินทาง เมื่อเราเดินทางอยู่นั้น เราคงไม่สะดวกที่จะสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่ากระนั้นเลย เราจะปรารภความเพียร ตั้งใจสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น แล้วปรารภความเพียรด้วยเรี่ยวแรงทั้งกายใจอันมั่นคงต่อไป

๔. เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว พึงปลูกความคิดอย่างนี้ให้เกิดขึ้นว่า เราได้เดินทางมาถึงแล้ว ในขณะที่เราเดินทางอยู่นั้น เราไม่สะดวกที่จะสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราควรที่จะปรารภความเพียร ตั้งใจสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น แล้วปรารภความเพียรทั้งกายใจด้วยเรี่ยวแรงอันมั่นคงต่อไป

๕. เมื่อเริ่มจะแสวงหาอาหาร พึงปลูกความคิดอย่างนี้ให้เกิดขึ้นว่า เมื่อเราแสวงหาอาหาร อาจได้อาหารมาไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ทั้งอาจได้อาหารที่ไม่ประณีต และกว่าจะได้อาหารมาก็คงจะเหน็ดเหนื่อย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราคงไม่สะดวกที่จะสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่ากระนั้นเลย เราควรปรารภความเพียร เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น แล้วปรารภความเพียรด้วยเรี่ยวแรงทั้งกายใจอันมั่นคงต่อไป

๖. เมื่อแสวงหาอาหารมาได้แล้ว พึงปลูกความคิดย่างนี้ให้เกิดขึ้นว่า อาหารก็เพียงพอแก่ความต้องการและประณีต แต่กว่าจะได้อาหารมาต้องเหน็ดเหนื่อยพอดู ในขณะที่เราแสวงหาอาหารอยู่นั้น เราไม่สะดวกที่จะสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย เมื่อเป็นดังนี้ เราควรจะปรารภความเพียร สำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้าต่อไป เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น แล้วปรารภความเพียรด้วยเรี่ยวแรงทั้งกายใจอันมั่นคงต่อไป

๗. เมื่อเริ่มมีอาการเจ็บป่วย พึงปลูกความคิดอย่างนี้ให้เกิดขึ้นว่า เราเริ่มมีอาการป่วยไข้แล้ว การที่โรคของเราจะกำเริบหนักขึ้นนั้น มีโอกาสที่จะเป็นไปได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราคงไม่สะดวกที่จะสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่ากระนั้นเลย บัดนี้ เราควรปรารภความเพียร ตั้งใจสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า ในขณะที่สติสัมปชัญญะของเรายังดีอยู่ เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น แล้วปรารภความเพียรด้วยเรี่ยวแรงทั้งกายใจอันมั่นคงต่อไป

๘. เมื่อหายป่วยไข้แล้ว พึงปลูกความคิดอย่างนี้ให้เกิดขึ้นว่า อาการป่วยไข้ของเราทุเลาแล้ว การที่โรคของเราจะกำเริบหนักขึ้นมาอีก ย่อมมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราคงไม่สะดวกที่จะสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพราะเหตุนี้ ในขณะที่เรายังมีสติสัมปชัญญะดีอยู่ เราควรจะปรารภความเพียร ตั้งใจสำเหนียกในคำสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อเข้าถึงธรรมที่ควรเข้าถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่ได้บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ดังนี้เป็นต้น แล้วปรารภความเพียรด้วยเรี่ยวแรงทั้งกายใจอันมั่นคงต่อไป


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |