ไปยังหน้า : |
บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดเรียนรู้สภาวะของผัสสเจตสิก อันนับเนื่องในสังขารขันธ์ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้
๑. ผุสสะนะลักขะโณ มีการกระทบอารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า ผัสสเจตสิก มีเอกลักษณ์ประจำตัวให้กำหนดพิจารณารู้ได้ คือ มีการกระทบกับอารมณ์นั่นเอง จริงอยู่ ผัสสะนี้แม้มีสภาพเป็นนามธรรมที่เป็นไปโดยอาการถูกต้องกับอารมณ์ได้เท่านั้น ซึ่งการกระทบถูกต้องอารมณ์ของผัสสะนั้น เป็นแต่สภาวะของนามธรรม คือ กระทบกับสภาวธรรมอย่างอื่น คือ ผัสสเจตสิกนี้เป็นนามธรรม ส่วนอารมณ์ที่มากระทบนั้นเป็นทั้งรูปธรรมและนามธรรม เพราะฉะนั้น การกระทบของผัสสะจึงมีสภาพเบา ไม่เหมือนกับรูปกระทบรูป ซึ่งมีอาการหนักหน่วงสามารถรับรู้ได้ชัดเจน การกระทบกันระหว่างผัสสะกับอารมณ์นี้ พึงเห็นตัวอย่าง เช่น คนที่มองเห็นคนอื่นรับประทานของเปรี้ยว แล้วเกิดน้ำลายสอขึ้นมา ดังนี้เรียกว่า มโนสัมผัสสะ แปลว่า ผัสสะที่เกิดขึ้นเพราะการกระทบกันระหว่างมโนทวารกับธรรมารมณ์ที่เกี่ยวเนื่องด้วยรส อันเจตนาปรุงแต่งให้เกิดความรู้สึกทางมโนวิญญาณขึ้นมา แต่อารมณ์นั้นเกี่ยวเนื่องกับรสารมณ์คือรส เพราะฉะนั้น จึงทำให้ชิวหาวิญญาณเกิดขึ้นรับรู้รสารมณ์นั้น โดยรู้สึกเปรี้ยวปากขึ้นมา แต่รสารมณ์ที่แท้จริง เป็นปัจจุบันนิปผันรูปนั้น ไม่ได้มากระทบกับชิวหาประสาทโดยตรง เพียงแต่เกิดขึ้นที่ใจซึ่งน้อมนึกถึงรสเปรี้ยว แล้วเกิดน้ำลายสอขึ้นมา ดังนี้เป็นต้น
๒. สังฆัฏฏะนะระโส มีการประสานระหว่างทวาร อารมณ์ และจิตในปัญจโวการภูมิให้เนื่องกัน หรือ ประสานระหว่างอารมณ์กับจิตในจตุโวการภูมิให้เนื่องกัน เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อผัสสะเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้สภาวธรรม ๓ ประการ คือ ทวาร อารมณ์ และวิญญาณกระทบกัน หรือ ติดต่อกันได้ ทำให้เกิดการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส การรู้กระทบสัมผัส ตลอดถึงการรับรู้ธรรมารมณ์ทางใจ นี้เป็นกิจของผัสสะ สำหรับในปัญจโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีขันธ์ ๕ ผัสสะเจตสิกย่อมทำให้วัตถุรูปอันเป็นตัวทวาร คือ เป็นช่องทางการรับรู้อารมณ์ของจิต กับอารมณ์และวิญญาณประสานกัน ส่วนในจตุโวการภูมิ คือ ภูมิที่มีเพียงนามขันธ์ ๔ ไม่มีรูปขันธ์ ได้แก่ อรูปภูมิ ๔ จิตไม่มีวัตถุรูปเป็นที่อาศัยเกิด เพราะไม่มีรูปใด ๆ เกิดเลย จิตเกิดโดยอาศัยมโนทวารและรับรู้อารมณ์ทางมโนทวารอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ผัสสะเจตสิกของบุคคลที่เกิดในจตุโวการภูมินี้ จึงทำหน้าที่ประสานระหว่างจิตกับอารมณ์ให้กระทบซึ่งกันและกัน แล้วเกิดการรับรู้ขึ้น หน้าที่ของผัสสะเจตสิกนี้ พึงเห็นเหมือน แพะ ๒ ตัวชนกัน ฉันนั้น
๓. สันนิปาตะปัจจุปปัฏฐาโน มีการประชุมพร้อมกันระหว่างวัตถุ อารมณ์และจิต หรือระหว่างอารมณ์กับจิต เป็นผลปรากฏ ในปัญญาของบัณฑิตทั้งหลาย หมายความว่า สภาวะของผัสสะย่อมมีลักษณะกระทบอารมณ์ เมื่อผัสสะเจตสิกเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้มีการประชุมพร้อมกันระหว่างธรรม ๓ ประการ คือ วัตถุ อารมณ์ และจิต ที่เป็นไปในปัญจโวการภูมิ หรือ ระหว่างธรรม ๒ ประการ อารมณ์ และจิตที่เป็นไปในจตุโวการภูมิ เป็นอาการปรากฏ คือ ในขณะที่มีการเห็น การได้ยิน เป็นต้นนั่นแหละ ผัสสะเจตสิกได้แสดงบทบาทของตนสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่มีผัสสะเจตสิกทำหน้าที่ประสานวัตถุ อารมณ์และวิญญาณให้กระทบกันแล้ว การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ สำหรับอาการปรากฏของผัสสะเจตสิกที่อยู่ในภวังคจิตนั้น ต่างกันกับอาการปรากฏของผัสสะเจตสิกที่อยู่ในวิถีจิต เพราะผัสสะเจตสิกที่อยู่ในวิถีจิตนั้น มีการประชุมพร้อมกันระหว่างธรรม ๓ อย่าง คือ วัตถุ อารมณ์ และจิต สำหรับในปัญจโวการภูมิ หรือการประชุมกันระหว่างธรรม ๒ อย่าง คือ อารมณ์กับจิต สำหรับในจตุโวการภูมิ ซึ่งเป็นอดีตบ้าง ปัจจุบันบ้าง อนาคตบ้าง เฉพาะอารมณ์ที่เกี่ยวกับปัจจุบันภพเท่านั้น ส่วนผัสสะเจตสิกที่อยู่ในภวังคจิต มีการประชุมพร้อมกันระหว่างธรรม ๒ อย่าง คือ อารมณ์กับจิตเท่านั้น และอารมณ์ของภวังคจิต ก็เป็นอารมณ์ที่รับมาจากภพก่อน ซึ่งมาประชุมกันกับจิตในภพนี้ คือ ภวังคจิตนั้นเป็นจิตที่สืบเนื่องมาจากปฏิสนธิจิต เป็นจิตดวงแรกที่เกิดขึ้นในภพภูมิปัจจุบันของบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น จิตและอารมณ์ล้วนเป็นผลของกรรมในอดีตทั้งสิ้น
๔. อาปาถะคะตะวิสะยะปะทัฏฐาโน มีอารมณ์ที่มาปรากฏเฉพาะหน้า เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า อารมณ์นั้นแหละเป็นเหตุใกล้ที่สุด ที่เป็นเหตุให้ผัสสะเจตสิกเกิดขึ้น ส่วนสิ่งอื่น ๆ คือ อดีตกรรม และวัตถุนั้น เป็นเหตุไกล เช่น ในเวลาใด ที่มีรูปารมณ์ คือ สีต่าง ๆ มาปรากฏทางจักขุทวาร ในเวลานั้นจักขุสัมผัสสะย่อมเกิดขึ้นได้ ในเวลาใด มีสัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ มาปรากฏที่โสตทวาร ในเวลานั้น โสตสัมผัสสะ ย่อมเกิดขึ้น ดังนี้เป็นต้น ถ้าไม่มีอารมณ์มาปรากฏ ถึงแม้จะมีอดีตกรรมและวัตถุรูปเป็นที่อาศัยเกิดก็ตาม ผัสสะเจตสิกย่อมไม่สามารถทำการประสานธรรมทั้ง ๒ อย่างนั้น ให้เกิดการรับรู้ได้