| |
คุณสมบัติพิเศษของกายปสาทรูป   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๑๘๑ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของกายปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้

กายปสาทรูปมีคุณสมบัติพิเศษโดยเฉพาะ ที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น เรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ อย่าง ได้แก่ ลักษณะ เป็นต้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ ได้แก่

๑. โผฏฺพฺพาภิฆาตารหภูตปฺปสาทลกฺขโณ มีความใสของมหาภูตรูปอันควรแก่การกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ เป็นลักษณะ

๒. โผฏฺพฺเพสุ อาวิญฺฉนรโส มีการชักนำมาซึ่งจิตเจตสิกในโผฏฐัพพารมณ์ต่าง ๆ เป็นกิจ

๓. กายวิญฺาณสฺส อาธารภาวปจฺจุปฏฺาโน มีการทรงไว้ได้ซึ่งกายวิญญาณ เป็นผลปรากฏ

๔. ผุสิตุกามตานิทานกมฺมสมุฏฺานกมฺมชภูตปทฏฺาโน มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม มีกรรมเป็นสมุฏฐาน อันเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะกระทบถูกต้อง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากคุณสมบัติพิเศษ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ ที่ท่านแสดงไว้แล้วนั้น ผู้เขียนจักอธิบายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นดังต่อไปนี้

๑. โผฏฺพฺพาภิฆาตารหภูตปฺปสาทลกฺขโณ มีความใสของมหาภูตรูปอันควรแก่การกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า คุณลักษณะพิเศษที่มีอยู่ประจำของกายปสาทรูปโดยเฉพาะนั้น ได้แก่ ความใสของมหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมซึ่งสามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ ได้เท่านั้น เพราะฉะนั้น คำว่า กายปสาทรูป นี้ จึงไม่ใช่ร่างกายทั้งหมด แต่เป็นความใสที่เกิดจากกรรม ที่เรียกว่า กัมมชกลาป ที่ซึมซาบ อยู่ทั่วร่างกาย ยกเว้นที่ปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ หนังที่ด้าน [เซลล์ที่ตายแล้ว] และที่รวมแห่งอาหารใหม่ใต้ลำไส้ใหญ่อันเป็นสถานที่เกิดและที่ทำงานของปาจกเตโชเท่านั้น ซึ่งเป็นวัตถุคือสถานที่อาศัยเกิดของกายวิญญาณจิต ๒ ดวงและเจตสิกที่ประกอบ [สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗] และเป็นกายทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางในการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ของกายทวารวิถีจิตหรือกายทวาริกจิต ถ้าร่างกายส่วนใดไม่มีกายปสาทรูปหรือกายปสาทรูปนั้นถูกทำลายเสียแล้ว บุคคลนั้นย่อมไม่สามารถรับรู้โผฏฐัพพารมณ์คือไม่สามารถรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึง เป็นต้น ณ ร่างกายส่วนนั้นได้เลย ส่วนรูปที่เป็นส่วนประกอบของร่างกายอื่น ๆ นั้น เป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนให้กายปสาทรูปได้อาศัยเกิดและเป็นไปได้เท่านั้น ไม่มีส่วนในการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์แต่ประการใด เพราะฉะนั้น แม้บุคคลใดหรือสัตว์ตนใดจะมีรูปร่างสัณฐานร่างกายที่สวยสดงดงามหรือขี้เหร่น่าเกลียดอย่างไร และมีรูปร่างกายเล็กหรือใหญ่เพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการรู้สึกโผฏฐัพพารมณ์มีมากหรือน้อยแต่ประการใด เพราะปัจจัยสำคัญในการที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการรู้รสมีมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับกายปสาทรูปที่เกิดจากกรรม ซึ่งมีความใสอันมีคุณสมบัติพิเศษในการรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ เท่านั้น ถ้ากายปสาทรูปของบุคคลใดหรือสัตว์ตนใดมีประสิทธิภาพมาก บุคคลนั้นย่อมสามารถรับรู้สัมผัสต่าง ๆ ได้ชัดเจนดี แต่ถ้ากายปสาทรูปของบุคคลใดหรือสัตว์ตนใดมีประสิทธิภาพน้อย บุคคลนั้นย่อมรับรู้สัมผัสต่าง ๆ ได้น้อยตามไปด้วย เพราะประสิทธิภาพของกายปสาทรูปนั้น ก็ได้แก่ ความใสแห่งมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรมอันควรแก่การกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ นั่นเอง อนึ่ง พวกรูปพรหมทั้งหลายแม้จะมีรูปทรงสัณฐานร่างกายที่สวยงามมากก็ตาม แต่ท่านเหล่านั้นไม่มีกายปสาทรูป เพราะฉะนั้น รูปพรหมทั้งหลายจึงไม่สามารถรู้สึกโผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ ได้เลยตลอดชาติที่เป็นพรหมอยู่นั้น

๒. โผฏฺพฺเพสุ อาวิญฺฉนรโส มีการชักนำมาซึ่งจิตเจตสิกในโผฏฐัพพารมณ์ต่าง ๆ เป็นกิจ หมายความว่า กายปสาทรูปนี้ย่อมมีหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติพิเศษ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส คือ หน้าที่อันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตนในการรับรู้สภาพแห่งสัมผัสต่าง ๆ คล้าย ๆ กับว่า เป็นช่องทางให้โผฏฐัพพารมณ์เข้ามาสู่ร่างกาย การกล่าวเช่นนี้ เป็นการกล่าวโดยอุปจารนัยคือนัยโดยอ้อมเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว กายปสาทรูปเป็นรูปธรรมซึ่งมีสภาพเป็นอเหตุกะคือไม่มีเหตุอันทำให้เกิดความหนักแน่น มีสภาพเป็นอจิตตกะคือไม่มีเจตนาในการจัดแจงบงการ และเป็นอนารัมมณะคือเป็นสภาพที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้ การรับรู้สัมผัสต่าง ๆ ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น กล่าวคือ มีกายปสาทรูปสมบูรณ์ดี มีโผฏฐัพพารมณ์มากระทบกับกายปสาทรูป โดยมีปถวีธาตุคือธาตุดินที่หยาบแข็งเป็นฐานรองรับการกระทบ และบุคคลนั้นมีมนสิการคือความใส่ใจที่จะรับรู้ เมื่อเหตุปัจจัยครบบริบูรณ์เช่นนี้แล้ว การรู้สัมผัสต่าง ๆ ย่อมสำเร็จได้ แต่ถ้าบกพร่องไปอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างแล้ว การรู้สัมผัสต่าง ๆ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยหน้าที่พิเศษอันเป็นคุณสมบัติของกายปสาทรูปนี้ ท่านจึงเปรียบเสมือนว่า กายปสาทรูปนี้คล้าย ๆ กับว่า ดึงดูดหรือชักนำสัมผัส ทั้งหลายให้เข้ามาสู่ร่างกายดังกล่าวแล้ว อนึ่ง การที่กายปสาทรูปนี้มีหน้าที่ชักนำมาซึ่งสัมผัสทั้งหลายนี้ ก็เป็นไปโดยปกติธรรมดาหรือธรรมชาติ ไม่ได้มีการขวนขวายจัดแจงแต่ประการใด กล่าวคือ กายปสาทรูปก็มิได้รู้ว่าตนเองรับกระทบกับสัมผัสต่าง ๆ หรือต้องการรับกระทบกับสัมผัสต่าง ๆ และสัมผัสต่าง ๆ ก็มิได้รู้ว่าตนเองกระทบกับกายปสาทรูปหรือมีความต้องการกระทบกับกายปสาทรูปแต่ประการใด เพียงแต่เมื่อเหตุปัจจัยครบบริบูรณ์ดังกล่าวแล้ว โผฏฐัพพารมณ์จึงจะสามารถกระทบกับกายปสาทรูปได้ และกายปสาทรูปก็สามารถรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ ได้ ทำให้เกิดกระบวนการรู้โผฏฐัพพารมณ์โดยกายทวารวิถีจิตต่อไป เพราะฉะนั้น ความเป็นไปแห่งเหตุปัจจัยระหว่างกายปสาทรูปกับโผฏฐัพพารมณ์ดังกล่าวมาแล้ว จึงไม่มีบุคคลใดจัดแจงปรุงแต่งให้เป็นไปแต่ประการใด ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยอันเป็นอัพยากตะล้วน ๆ

๓. กายวิญฺาณสฺส อาธารภาวปจฺจุปฏฺาโน มีการทรงไว้ได้ซึ่งกายวิญญาณ เป็นผลปรากฏ หมายความว่า กายปสาทรูปนี้ย่อมมีความเกิดดับเป็นไปตามสภาพแห่งรูปธรรมอันเป็นสังขตธรรม คือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอยู่เสมอ แต่เมื่อกล่าวถึงคุณสมบัติอันเป็นผลสำเร็จหรือผลที่ประจักษ์ของกายปสาทรูปนี้แล้ว ไม่ว่ากายปสาทรูปของบุคคลใดหรือสัตว์ตนใดก็ตาม เกิดขึ้นเมื่อไรก็ตาม หรือเกิดขึ้นในภพภูมิใดก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมมีสภาพที่ทรงไว้หรือรองรับไว้ได้ซึ่งกายวิญญาณจิต กล่าวคือ สามารถเป็นสถานที่อาศัยเกิดของกายวิญญาณจิตได้ และเป็นทวารให้กายทวารวิถีจิตเกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติอันเป็นผลประจักษ์ที่บัณฑิตผู้มีปัญญาสามารถกำหนดพิจารณารู้ได้

๔. ผุสิตุกามตานิทานกมฺมสมุฏฺานกมฺมชภูตปทฏฺาโน มีมหาภูตรูปอันเกิดจากกรรม มีกรรมเป็นสมุฏฐาน อันเป็นเหตุแห่งความเป็นผู้ใคร่เพื่อจะกระทบถูกต้อง เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า กายปสาทรูปนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีความประชุมพร้อมแห่งมหาภูตรูปทั้ง ๔ [รวมทั้งรูปอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบในกลาปเดียวกันด้วย] ที่เกิดจากกรรมประเภทเดียวกันเป็นฐานรองรับด้วย และมหาภูตรูปทั้งหลาย [รวมทั้งรูปอื่น ๆ ในกลาปเดียวกันนั้น] จะต้องเป็นกัมมชรูปคือรูปที่เกิดจากกรรมที่มีความประสงค์เพื่อจะกระทบถูกต้องสัมผัสต่าง ๆ ด้วย กายปสาทรูปนี้จึงจะสามารถเกิดร่วมด้วยได้ อนึ่ง การที่ท่านกล่าวว่า มีมหาภูตรูปที่เกิดจากกรรม อันมีความประสงค์เพื่อจะกระทบสัมผัสต่าง ๆ นั้น เป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะรูปธรรมทั้งหลาย ได้ชื่อว่า อนารัมมณธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ได้เลย แต่ที่ท่านกล่าวเช่นนี้ มีความมุ่งหมายว่า บรรดารูปธรรมที่เกิดพร้อมกับกายปสาทรูปนั้น จะต้องเป็นรูปธรรมที่เกิดจากกรรมอย่างเดียวกันทั้งหมด และรูปธรรมเหล่านั้นจะต้องมีความพร้อมในการที่จะรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์คือสัมผัสต่าง ๆ ได้ด้วยนั่นเอง ถ้ารูปธรรมเหล่านั้นไม่มีความเหมาะสมและไม่มีความพร้อมในการที่จะรับกระทบกับโผฏฐัพพารมณ์แล้ว กายปสาทรูปย่อมไม่สามารถเกิดร่วมด้วยได้ เช่น ที่ปลายผม ปลายขน ปลายเล็บ หนังที่ด้าน [เซลล์ที่ตายแล้ว] และที่รวมแห่งอาหารใหม่ใต้ลำไส้ใหญ่อันเป็นสถานที่เกิดและที่ทำงานของปาจกเตโช หรือในสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีชีวิต เป็นต้น กายปสาทรูปย่อมไม่สามารถเกิดร่วมกับรูปเหล่านั้นได้เลย เพราะฉะนั้น มนุษย์และสัตว์ทั้งหลายจึงไม่สามารถใช้อวัยวะต่าง ๆ เหล่านั้นรับรู้โผฏฐัพพารมณ์แทนกายปสาทรูปได้ และสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายย่อมไม่สามารถรับรู้สัมผัสต่าง ๆ ได้เลย เพราะไม่มีกายปสาทรูปเกิดร่วมด้วย และเพราะเป็นรูปที่ไม่ได้เกิดจากกรรมนั่นเอง จึงสรุปได้ว่า กายปสาทรูปนี้ย่อมเกิดร่วมเฉพาะกับมหาภูตรูปทั้ง ๔ [รวมทั้งรูปอื่น ๆ ในกลาปเดียวกัน] ที่เกิดจากกรรมอันเป็นเหตุแห่งการกระทบสัมผัสเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |