ไปยังหน้า : |
คำว่า สัททะ ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น ย่อมมี ๒ ประเภท คือ
๑. สัททารมณ์ หมายถึง อารมณ์คือเสียง ได้แก่ สัททรูปที่เป็นอารมณ์แก่ โสตวิญญาณจิต ๒ และโสตทวาริกจิตอื่น ๆ เพราะฉะนั้น สัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ ก็ได้แก่ เสียงที่กระทบกับประสาทหู ทำให้เกิดโสตวิญญาณจิต คือ การได้ยินเสียง ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ปรากฏแก่โสตทวารวิถีจิตหรือโสตทวาริกจิต ๔๖ ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ [เว้นจักขุวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] ทางโสตทวารอย่างเดียวเท่านั้น
๒. สัททบัญญัติ หมายถึง เสียงที่สมมุติเรียกขานกันในหมู่สังคมหนึ่ง ๆ หรือประเทศหนึ่ง ๆ เป็นต้น เพื่อสื่อความหมายร่วมกันเท่านั้น ซึ่งหมายถึงเสียงทั้งหมด ทั้งเสียงของคน เสียงสัตว์ และเสียงของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย ที่สมมุติเรียกกันว่า เสียงคน เสียงสัตว์ เสียงลม เสียงฟ้าร้อง เป็นต้น โดยผ่านการรับรู้ทางมโนทวารวิถีแล้วสมมุติเรียกเป็นเสียงต่าง ๆ ตามภาษาของสังคมหรือของประเทศนั้น ๆ