ไปยังหน้า : |
ดังที่ได้กล่าวไว้แต่ต้นแล้วว่า วิตกเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่อยู่ในกลุ่ม ปกิณณกเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทุกประเภท แต่ไม่ทุกดวง และวิตกเจตสิกประกอบกับจิตได้ถึง ๕๕ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๘ [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐] กามาวจรโสภณจิต ๒๔ ปฐมฌานจิต ๑๑ เพราะฉะนั้น เมื่อจำแนกวิตกเจตสิกโดยสภาวธรรมที่เข้าไปประกอบแล้ว จึงแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
๑. อกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดในทางที่เป็นอกุศล หมายความว่า วิตกเจตสิก เมื่อประกอบกับอกุศลจิตแล้วย่อมตรึกไปตามสภาพของอกุศลธรรมที่ตนเกิดร่วมด้วยนั้น เช่น ตรึกไปในเรื่องความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นต้น ตามแต่สภาพของอกุศลธรรมที่มีอำนาจมากกว่าสัมปยุตตธรรมอย่างอื่นในจิตดวงเดียวกันนั้นจะนำพาไป
๒. กุศลวิตก ความตรึกนึกคิดในทางที่เป็นกุศล หมายความว่า วิตกเจตสิก เมื่อประกอบกับกุศลจิตแล้ว ย่อมตรึกไปตามสภาพของกุศลธรรมที่ตนเกิดร่วมด้วยนั้น เช่น ตรึกไปในเรื่องความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง เป็นต้น ตามแต่สภาพของกุศลธรรมที่มีอำนาจมากกว่าสัมปยุตตธรรมอย่างอื่นในจิตดวงเดียวกันนั้นจะนำพาไป
๓. อัพยากตวิตก ความตรึกนึกคิดในทางที่เป็นอัพยากฤต หมายความว่า วิตกเจตสิกนี้ เมื่อประกอบกับวิบากจิตและกิริยาจิตแล้ว ย่อมตรึกไปตามสภาพของวิบากจิตและกิริยาจิตที่ตนเกิดร่วมด้วยนั้น เช่น ยกวิบากจิตขึ้นสู่อารมณ์ของตนหรือยกอเหตุกกิริยาจิตขึ้นสู่อารมณ์นั้น ๆ ที่ปรากฏขึ้น ส่วนในมหากิริยาจิตซึ่งเป็นจิตของพระอรหันต์ ย่อมตรึกนึกไปในเรื่องความไม่โลภ ความไม่โกรธ ความไม่หลง เป็นต้น เหมือนกับมหากุศลจิต ในรูปาวจรปฐมฌานวิบากจิต ย่อมตรึกไปในบัญญัติอารมณ์ ในปฐมฌานผลจิตย่อมตรึกถึงนิพพานอารมณ์ ตามแต่สภาพของธรรมที่มีอำนาจมากกว่าสัมปยุตตธรรมอย่างอื่นในจิตดวงเดียวกันนั้นจะนำพาไป