| |
สรุปความเรื่องลักขณรูป ๔   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๔๕๙ ได้แสดงสรุปความหมายของ ลักขณรูปไว้ดังต่อไปนี้

ลักขณรูป คือ รูปที่เป็นเครื่องสังเกต กล่าวคือ ตัดสินธรรมทั้งหลายได้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นสังขตธรรม หมายความว่า รูปที่ทำให้สังเกตรู้ความเป็นสังขตธรรมนั่นเอง ดังหลักฐานพระพุทธพจน์ในอังคุตตรนิกายแสดงว่า

ตีณิมานิ ภิกฺขเว สงฺขตสฺส สงฺขตลกฺขณานิ ฯ กตมานิ อุปฺปาโท ปญฺายติ วโย ปญฺายติ ตสฺส อญฺถตฺตํ ปญฺายติรุ.๔๖๐ ” แปลความว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลักษณะแปรปรวนของสังขตธรรม มี ๓ ประการเหล่านี้ ๓ ประการเป็นไฉน ? คือ การเกิดขึ้นปรากฏ การเสื่อมไปปรากฏ และการแปรปรวนของสภาวะอันตั้งอยู่ปรากฏ

ชาติรูป [รูปคือการเกิดขึ้นหรือความเกิดของรูป] มีปรากฏในพระบาลีว่า “ชาติรูปเมว” เป็นต้น แปลว่า อนึ่ง ในการแสดงรูปโดยย่อนี้ ชาติรูปนั่นแหละมีเรียกโดยชื่อว่า อุปจยะและสันตติ

ชาติ คือ การเกิดขึ้น กล่าวคือ การปรากฏ

อีกนัยหนึ่ง ชาติ คือ รูปที่ทำให้เกิดรูปอื่น

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว ชาติรูปมีความหมาย ๒ ประการ คือ

๑. การเกิดขึ้น ดังวจนัตถะแสดงว่า “ชนนํ ชาติ” แปลความว่า ความเกิดชื่อว่า ชาติ

๒. รูปที่ทำให้เกิดรูปอื่น ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ชายนฺติ เอตายาติ ชาติ” แปลความว่า รูปทั้งหลายย่อมเกิดขึ้น เพราะอาศัยรูปนั้น เพราะเหตุนั้น รูปที่เป็นเหตุแห่งการเกิดขึ้นของรูปทั้งหลาย จึงชื่อว่า ชาติ

คำว่า “มีเรียกโดยชื่อว่า อุปจยะ [การเกิดขึ้นของรูป] และสันตติ [การดำเนินไปของรูป]” หมายความว่า เพราะการเกิดขึ้นของรูปประกอบด้วยระยะกาลเช่นนั้น ความจริง การเกิดขึ้นของรูปย่อมทำรูปในขณะปฏิสนธิให้ปรากฏก่อน ทั้งอายตนะที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์อีกด้วย และทำให้รูปที่บริบูรณ์แล้วดำเนินไปต่อเนื่องไม่ขาดสายตลอดกาลนาน

สรุปความแล้ว ในลักขณรูป ๔ ย่อมมีอยู่ ๓ อย่างเท่านั้น คือ มีลักษณะเกิดขึ้น ลักษณะที่ตั้งอยู่ และลักษณะที่ดับไป อุปจยะและสันตติ รวมอยู่ในความเกิด, ชรตา คือ ความตั้งอยู่, อนิจจตา คือ ความดับไป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๔๖๑ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องลักขณรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ชื่อว่า ลักขณรูป เพราะเป็นเหตุให้กำหนดธรรมทั้งหลาย ด้วยอำนาจแห่งการกำหนดนั้น ๆ

บทว่า ชาติรูปเมว มีความว่า รูปกล่าวคือชาติ เพราะเป็นความอุบัติขึ้นในขณะ ๆ แห่งรูปทั้งหลาย จำเดิมแต่ปฏิสนธิ และที่สมมติกันว่า รูป เพราะมีความเป็นไปเกี่ยวเนื่องกับรูป โดยเป็นความอุบัติขึ้นแห่งรูป ท่านเรียกว่า ชาติรูป นั่นเทียว โดยเป็นความแรกก่อและความสืบต่อ เพราะสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสจำแนกไว้ว่า อุปจโย สนฺตติ ด้วยอำนาจแห่งเวไนยสัตว์ โดยความแตกต่างแห่งอาการเป็นไป กล่าวคือ ความเริ่มเกิดขึ้นครั้งแรก ก็เพราะอธิบายอย่างนี้ เพื่อแสดงความไม่แตกต่างกันโดยอรรถ ในนิเทศแห่งรูป ปวัตติทั้ง ๒ นั้น ท่านอาจารย์รุ.๔๖๒ จึงกล่าวว่า ความเริ่มก่อแห่งอายตนะทั้งหลายอันใด อันนั้น ชื่อว่า ความแรกก่อแห่งรูป ความแรกก่อแห่งรูปอันใด อันนั้นชื่อว่า สันตติแห่งรูป ดังนี้

คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๔๖๓ เป็นต้น ได้แสดงสรุปลักขณรูปทั้ง ๔ ไว้ดังต่อไปนี้

ลักขณรูปทั้ง ๔ ที่ได้แสดงมาแล้วนั้น เป็นการแสดงตามปรมัตถนัย [คือนัยแห่งพระอภิธรรม] เรียกว่า อุปจยะ สันตติ ชรตา อนิจจตา ส่วนที่แสดงตามสุตตันตนัยนั้น ชื่อว่า ชาติ ชรา มรณะ เป็นไปโดยสมมุติ หมายความว่า ขณะที่สัตว์ทั้งหลายอยู่ในครรภ์มารดาจนคลอดออกมา เรียกว่า ชาติ คือ เกิด ขณะที่สิ้นชีวิตถึงแก่ความตาย เรียกว่า มรณะ และในระหว่างตายกับเกิดนั้น เรียกว่า ชรา

ลักขณรูปนี้ เป็นรูปที่แสดงสามัญญลักษณะของนิปผันนรูป ที่จะส่องให้วิปัสสนาปัญญาเห็นความเป็นไตรลักษณ์ได้

บทสรุปของผู้เขียน :

ลักขณรูป เป็นรูปที่เป็นเครื่องหมายให้กำหนดวินิจฉัยรูปทั้งหลายได้ว่า เป็นสังขตธรรม กล่าวคือ ธรรมที่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง มีสภาพปรากฏเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง และดับไปในที่สุด

อุปจยรูป เป็นอาการก่อตัวขึ้นครั้งแรกของนิปผันนรูป สันตติรูปเป็นอาการสืบเนื่องแห่งนิปผันนรูปที่ก่อตัวขึ้นนั้นจนเต็มบริบูรณ์ ชรตารูปเป็นอาการเปลี่ยนแปลงของนิปผันนรูปที่เกิดเต็มบริบูรณ์แล้วนั้น โดยเคลื่อนเข้าไปใกล้ความแตกดับ อนิจจตารูปเป็นความแตกดับหรือความเสื่อมสิ้นไปแห่งนิปผันนรูปที่เกิดขึ้นแล้วนั้น นี้เป็นการแสดงโดยปรมัตถนัยคือนัยแห่งพระอภิธรรม ส่วนนัยแห่งพระสูตรนั้น อุปจยรูปและสันตติรูปสงเคราะห์ในชาติ คือ ความเกิด ชรตารูปสงเคราะห์ในชรา คือ ความแก่ และอนิจจตารูปสงเคราะห์เข้าในมรณะ คือ ความตาย เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ลักขณรูปทั้ง ๔ เหล่านี้เป็นอาการเกิด แก่ และตายของรูปทั้งหลาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ ความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ และความดับไปของรูปธรรมทั้งหลายนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |