| |
เหตุให้เกิดปีติ ๖ ประการ   |  

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ท่านพระพุทธโฆษาจารย์ได้แสดงเหตุให้เกิดปีติ ๖ ประการ คือ

๑. ปีติเกิดจากราคะ หมายถึง ความอิ่มใจเพราะความชอบใจ ความหลงใหล และความอิ่มใจที่ประกอบด้วยอำนาจกิเลสคือโลภะ ได้แก่ ปีติเจตสิกที่ประกอบกับโลภมูลจิตซึ่งเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา [โลภโสมนัส ๔] เมื่อได้ประสบกับอติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย หรือทางใจ ทำให้เกิดความกระหยิ่มยิ้มย่อง เกิดความยินดีร่าเริงสนุกสนาน เพลิดเพลินและหลงไหลไปตามอารมณ์นั้น

๒. ปีติเกิดจากศรัทธา หมายถึง ความอิ่มใจของบุคคลผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า ได้แก่ ปีติเจตสิกที่ประกอบกับมหากุศลจิตและมหากิริยาจิต ซึ่งมีศรัทธาเจตสิกเป็นประธาน ถ้าบุคคลมีศรัทธาในสิ่งใดมาก เมื่อได้ประสบกับสิ่งนั้นหรือได้กระทำกิจการงานนั้นย่อมเกิดความเลื่อมใสศรัทธาที่ประกอบพร้อมด้วยปีติ ทำให้เกิดความเอิบอิ่มยินดี รื่นเริงบันเทิงใจในทางที่ชอบธรรม เช่น ความศรัทธาในคุณพระพุทธเจ้า ศรัทธาในคุณพระธรรม ศรัทธาในคุณพระสงฆ์ ศรัทธาในกฏแห่งกรรม เป็นต้น เมื่อปรารภถึงสิ่งเหล่านั้น แล้วย่อมเกิดปีติยินดีอย่างยิ่ง

๓. ปีติเกิดจากความไม่ดื้อรั้น หมายถึง ความอิ่มใจอย่างยิ่งของคนดี ผู้มีใจบริสุทธิ์ หมายความว่า บุคคลใดเป็นผู้มีอุปนิสัยแห่งโสวจัสสตา คือ เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย ไม่มีนิสัยดื้อรั้นมาแต่ก่อน เมื่อปรารภถึงคุณงามความดีของตนแล้ว ย่อมเกิดความเอิบอิ่มยินดีพอใจ มีความภาคภูมิใจในอุปนิสัยอันดีงามของตน ที่เป็นคนไม่ดื้อรั้นมาแต่ก่อน ทำให้ได้รับประโยชน์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยคิดว่า ถ้าเราเป็นคนหัวดื้อถือรั้นว่า ยากสอนยาก ที่เรียกว่า โทวจัสสตา แล้ว ชีวิตของเราอาจจะย่ำแย่ประสบความลำบากเพราะความไม่ดีนั้น ชีวิตของเราคงไม่เจริญรุ่งเรืองมาถึงปานนี้ ดังมีตัวอย่างในบุคคลผู้ดื้อรั้นทั้งหลาย ซึ่งพลาดโอกาสอันดีงามในชีวิตไป เพราะความคึกคะนองเกินขอบเขตและความดื้นรั้นจนเกินพอดี ทำให้ชีวิตตกต่ำ ประสบความทุกข์ยากนานาประการที่เป็นอยู่ในสังคมโดยทั่วไป

๔. ปีติเกิดจากวิเวก หมายถึง ความอิ่มใจของบุคคลผู้เข้าปฐมฌาน หมายความว่า บุคคลที่ได้ปฐมฌานนั้น ในขณะที่ปฐมฌานเกิดขึ้นใหม่ ๆ ก็ดี หรือในขณะเข้าปฐมฌานสมาบัติก็ดี สภาพขององค์ฌานทั้ง ๕ ได้แก่ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ย่อมปรากฏเด่นชัดมีสภาพเฟื่องฟูอยู่ก็ดี ย่อมทำให้จิตใจเต็มเปี่ยมด้วยความสุขและความอิ่มเอิบใจ จนไม่รู้สึกหิวกระหาย หนาว ร้อน หรือไม่รู้สึกทะยานอยากดิ้นรนในสิ่งต่าง ๆ มีความอิ่มตัว เกิดความมักน้อยสันโดษ อยู่อย่างเป็นสุข

๕. ปีติเกิดจากสมาธิ หมายถึง ความอิ่มใจของบุคคลผู้เข้าทุติยฌาน หมายความว่า บุคคลที่เข้าถึงทุติยฌาน ด้วยการพัฒนาขึ้นจากปฐมฌานเข้าถึงทุติยฌาน ที่ประกอบด้วยองค์ฌาน ๔ หรือองค์ฌาน ๓ องค์ฌาน ๔ นั้นได้แก่ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานของมันทบุคคล คือ บุคคลที่มีกำลังบารมีในเรื่องของฌานอ่อนไปหน่อย จึงละองค์ฌานได้ทีละ ๑ องค์ คือ ทุติยฌานละวิตกได้อย่างเดียว จึงเหลือองค์ฌาน ๔ ส่วนองค์ฌาน ๓ นั้น ได้แก่ ปีติ สุข เอกัคคตา เป็นฌานของติกขบุคคล คือ บุคคลที่มีกำลังบารมีในเรื่องฌานอย่างแก่กล้า ในทุติยฌานนั้น สามารถละองค์ฌานได้ ๒ คือ ละวิตกและวิจารพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ทุติยฌานของติกขบุคคล จึงมีองค์ฌาน ๓ เพราะฉะนั้น ปีติในทุติยฌานของติกขบุคคลนั้น ย่อมมีสภาพปรากฏเด่นชัดกว่าองค์ฌานอย่างอื่น จึงเรียกว่า องค์ฌานที่หยาบกว่า คือ ในเรื่องของฌานนั้น ถ้าองค์ฌานไหนปรากฏเด่นชัดกว่าองค์ฌานอื่น องค์ฌานนั้น เรียกว่า องค์ฌานที่หยาบกว่า ซึ่งจะต้องละทิ้งไปจากจิตใจ เพื่อมิให้จิตตกไปสู่ฌานที่ต่ำกว่า ได้แก่ การไม่ใส่ใจถึงองค์ฌานนั่นเอง แล้วสภาพขององค์ฌานนั้นย่อมจะหายไปจากจิตใจ

๖. ปีติเกิดจากโพชฌงค์ หมายถึง ความอิ่มใจที่เกิดจากการดำเนินตามโลกุตตรมรรค ในทุติยฌาน หมายความว่า ทุติยฌานลาภีบุคคล ได้แก่ บุคคลผู้ได้ทุติยฌาน ซึ่งใช้ฌานเป็นบาทเจริญวิปัสสนาดำเนินไปสู่โลกุตตรมรรค ในขณะนั้น ย่อมเกิดปีติปราโมทย์ในหนทางแห่งพระนิพพาน ด้วยอำนาจปีติสัมโพชฌงค์ คือ ปีติเจตสิกที่มีกำลังแรงกล้า เกิดพร้อมด้วยสัมมาทิฏฐิเป็นประธาน ย่อมดำเนินไปสู่หนทางแห่งพระนิพพานโดยส่วนเดียว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |