| |
คุณสมบัติพิเศษของวัณณรูป   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๒๐๒ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของวัณณรูปหรือรูปารมณ์ไว้ดังต่อไปนี้

วัณณรูปหรือรูปารมณ์มีคุณสมบัติพิเศษโดยเฉพาะ ที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น ซึ่งเรียกว่า วิเสสลักษณะ มี ๔ อย่าง ได้แก่ ลักษณะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ ได้แก่

๑. จกฺขุปฏิหนนลกฺขณํ มีการกระทบกับจักขุปสาท เป็นลักษณะ

๒. จกฺขุวิญฺาณสฺส วิสยภาวรสํ มีการเป็นอารมณ์ให้จักขุวิญญาณ เป็นกิจ

๓. ตสฺเสว โคจรภาวปจฺจุปฏฺานํ มีความเป็นอารมณ์ให้แก่จักขุวิญญาณนั่นเอง เป็นอาการปรากฏ

๔. จตุมหาภูตปทฏฺานํ มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากวิเสสลักษณะหรือลักขณาทิจตุกกะของวัณณรูปหรือรูปารมณ์ที่ท่านกล่าวไว้ข้างต้นนั้น ผู้เขียนขออธิบายขยายความหมายเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

๑. จกฺขุปฏิหนนลกฺขณํ มีการกระทบกับจักขุปสาท เป็นลักษณะ หมายความว่า วัณณรูปหรือรูปารมณ์นี้ ย่อมมีสภาวะลักษณะโดยเฉพาะของตน อันเป็นคุณสมบัติพิเศษประจำตัวอยู่เสมอ คือ สีต่าง ๆ อันมีรัศมีเปล่งออก ที่สามารถกระทบกับจักขุปสาทรูปได้เท่านั้น โดยไม่สามารถกระทบกับปสาทรูปอย่างอื่น มีโสตปสาทรูปเป็นต้นได้เลย นี้จัดเป็นคุณลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอันเป็นสภาวลักษณะของวัณณรูปหรือรูปารมณ์คือสีต่าง ๆ

๒. จกฺขุวิญฺาณสฺส วิสยภาวรสํ มีการเป็นอารมณ์ให้จักขุวิญญาณ เป็นกิจ หมายความว่า หน้าที่อันเป็นคุณสมบัติ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส ของวัณณรูปคือรูปารมณ์นั้น ก็คือ สามารถปรากฏแก่จักขุวิญญาณจิตและจักขุทวาริกจิต ๔๖ ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ ดวง [เว้นโสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] โดยอาศัยจักขุทวาร ซึ่งหน้าที่นี้ เป็นหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติที่ติดตัวมากับวัณณรูปหรือรูปารมณ์โดยเฉพาะ ไม่ใช่หน้าที่ที่เป็นการขวนขวายเพื่อจะทำ ที่เรียกว่า กิจจรส แต่ประการใด เพราะวัณณรูปหรือรูปารมณ์นั้น เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอัพยากตธรรม คือ สภาพธรรมที่ไม่มีความขวนขวายเพื่อจะกระทำให้เกิดขึ้น และมีสภาพเป็นอจิตตกะ คือ ไม่มีเจตนาที่จะจัดแจงปรุงแต่งให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นหรือเป็นไปแต่ประการใด กล่าวคือ วัณณรูปหรือรูปารมณ์เอง ก็ไม่มีความรู้สึกว่าตนเองกระทบกับจักขุปสาทหรือมีความต้องการเพื่อจะกระทบกับจักขุปสาทแต่ประการใด และจักขุปสาทเองก็ไม่มีความรู้สึกว่า ตนเองถูกวัณณรูปหรือรูปารมณ์กระทบเข้าแล้ว หรือไม่มีความต้องการเพื่อจะให้วัณณรูปหรือรูปารมณ์มากระทบกับตนเองเช่นเดียวกัน การกระทบกันระหว่างจักขุปสาทกับรูปารมณ์นี้ ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อจักขุปสาทรูปกับรูปารมณ์อยู่ในสภาพที่สามารถกระทบกันได้ ย่อมกระทบกันได้ แต่ถ้าทั้ง ๒ อย่างนั้นอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถกระทบกัน ย่อมกระทบกันไม่ได้ การกระทบกันนี้ล้วนแต่เป็นไปตามสภาพแห่งอนัตตา กล่าวคือ เป็นไปตามเหตุปัจจัยล้วน ๆ โดยไม่มีใครมาบงการบังคับบัญชาให้เป็นไปแต่ประการใดทั้งสิ้น

๓. ตสฺเสว โคจรภาวปจฺจุปฏฺานํ มีความเป็นอารมณ์ให้แก่จักขุวิญญาณนั่นเอง เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพแห่งวัณณรูปหรือรูปารมณ์นี้ ย่อมปรากฏแก่จักขุวิญญาณจิต ๒ หรือจักขุทวาริกจิต ๔๖ ได้แก่ กามาวจรจิต ๔๖ ดวง [เว้นโสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ ชิวหาวิญญาณจิต ๒ กายวิญญาณจิต ๒] ทางจักขุทวารเท่านั้น จะปรากฏแก่วิญญาณจิตอื่นหรือทวาริกจิตเหล่าอื่น และทางทวารอื่น ที่นอกจากนี้หาได้ไม่ นี้เป็นสภาวลักษณะพิเศษเฉพาะตนที่ปรากฏเป็นผลสำเร็จออกมาของวัณณรูปหรือรูปารมณ์ ซึ่งเป็นไปโดยธรรมชาติหรือธรรมดา อันเป็นอนัตตาของสภาวธรรมทั้งหลายเท่านั้น โดยไม่มีบุคคลใดเป็นผู้จัดแจงปรุงแต่งหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปแต่ประการใด เป็นไปตามเหตุปัจจัยล้วน ๆ

๔. จตุมหาภูตปทฏฺานํ มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า วัณณรูปหรือรูปารมณ์นี้จะปรากฏเกิดขึ้นได้ จะต้องมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นฐานรองรับให้ปรากฏเกิดขึ้น เพราะวัณณรูปนี้เป็นแต่เพียงสีของมหาภูตรูปทั้ง ๔ เท่านั้น ไม่มีตัวตนอยู่โดยเฉพาะ ถ้าไม่มีมหาภูตรูปทั้ง ๔ คือ ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม อยู่แล้ว สีของธาตุเหล่านั้น ย่อมปรากฏไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น มหาภูตรูปทั้ง ๔ จึงเป็นเหตุอันใกล้ที่สุดที่จะให้วัณณรูปหรือรูปารมณ์นี้ปรากฏเกิดขึ้นได้ กล่าวคือ เป็นฐานรองรับการเกิดขึ้นของวัณณรูปหรือรูปารมณ์นี้นั่นเอง

เมื่อสรุปความแล้ว คุณสมบัติพิเศษของวัณณรูปหรือรูปารมณ์คือสีต่าง ๆ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะหรือลักขณาทิจตุกกะนั้น ได้แก่ ย่อมมีการกระทบกับจักขุปสาท เป็นลักษณะ มีการเป็นอารมณ์ให้จักขุวิญญาณ เป็นกิจ มีความเป็นอารมณ์ให้แก่จักขุวิญญาณนั่นเอง เป็นอาการปรากฏ และมีมหาภูตรูปทั้ง ๔ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด ซึ่งความเป็นไปเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของสภาวธรรมที่เป็นรูปธรรม อันมีสภาพเป็นอัพยากตะ คือ ไม่มีความขวนขวายด้วยตนเอง มีสภาพเป็นอจิตตกะ คือ ไม่มีเจตนาในการจัดแจงปรุงแต่งหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา และมีสภาพเป็นสังขตธรรม คือ เป็นไปตามที่เหตุปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อมีเหตุปัจจัย ย่อมปรากฏเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนแปลง ย่อมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อเหตุปัจจัยดับ ย่อมดับไปตามเหตุปัจจัย อันเป็นสภาพแห่งอนัตตาล้วน ๆ ไม่มีตัวตนหรือบุคคลใดมาเป็นผู้บงการทั้งสิ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |