| |
ลักขณาทิจตุกะของทิฏฐิเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของทิฏฐิเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์เป็นพิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ที่ไม่มีเหมือนกับสภาวธรรมเหล่าอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. อะโยนิโสภินิเวสะนะลักขะณา มีการถือมั่นโดยอุบายอันไม่แยบคาย เป็นลักษณะ หมายความว่า สภาวะลักษณะของทิฏฐิเจตสิก ย่อมมีการยึดถือผิดไปจากสภาพความเป็นจริง หรือการยึดถือที่เป็นไปตรงข้ามกับสภาพความเป็นจริง ได้แก่ การยึดถือสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นของเที่ยง ยึดถือในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ยึดถือในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นสิ่งมีตัวตน และยึดถือในสิ่งที่ไม่สวยงามว่าเป็นของสวยงาม เป็นต้น

๒. ปะรามาสะระสา มีการยึดมั่นผิดสภาวะ เป็นกิจ หมายความว่า สภาพของทิฏฐิเจตสิกนั้น ย่อมทำกิจในการยึดถือสิ่งต่าง ๆ ให้ผิดไปจากความเป็นจริง ได้แก่ การยึดถือในสิ่งที่เป็นอกุศลว่าเป็นกุศล ยึดถือในสิ่งที่เป็นกุศลว่าเป็นอกุศล ยึดถือในสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารว่าเป็นสาระแก่นสาร เป็นต้น

๓. มิจฉาภินิเวสะนะปัจจุปปัฏฐานา มีการยึดถือเอาความเห็นผิดนั้นไว้เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของทิฏฐิเจตสิกนี้เมื่อยึดถือสิ่งใดแล้ว ย่อมยึดติดอยู่ในสิ่งนั้น ยากที่จะแก้ไขหรือละคลายได้ เพราะฉะนั้น บุคคลที่มีมิจฉาทิฏฐิ หรือถูกมิจฉาทิฏฐิครอบงำแล้ว ย่อมยึดติดในสิ่งต่าง ๆ ที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง ของสิ่งนั้น ๆ ถึงแม้ว่า จะมีเหตุผลมาลบล้างความเห็นผิดของตนให้เข้าใจตามเป็นจริง หรือถึงแม้จะยอมรับในเหตุผลนั้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่อาจจะถ่ายถอนความเห็นผิดนั้นออกไปจากจิตใจ ยังยึดติดอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ

๔. อะริยานัง อะทัสสะนะกามะตาทิปะทัฏฐานา มีความไม่ต้องการเห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นต้น เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า บุคคลผู้เห็นผิด มีบ่อเกิดมาจากการเป็นผู้แหนงหน่ายต่อกัลยาณมิตรไม่ต้องการพบเห็นพระอริยเจ้า ไม่ต้องการฟังคำสอนของพระอริยเจ้าเพราะเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความคิดความเห็นของตน เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ความเห็นผิดหมักหมมอยู่ในขันธสันดานมากยิ่งขึ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |