ไปยังหน้า : |
พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๑๗๐ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของชิวหาปสาทรูปไว้ดังต่อไปนี้
ชิวหาปสาทรูป เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีความสดใส สามารถรับรสต่าง ๆ ได้ เพื่อให้ชีวิตยืนยาว ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “ชีวิตํ อวฺหายตีติ = ชิวฺหา” แปลความว่า รูปใดมีสภาพคล้ายกับว่าเรียกร้องซึ่งรส เป็นเหตุให้อายุยืน เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า ชิวหา
บทสรุปของผู้เขียน :
ชิวหาปสาทรูป มีคำจำกัดความอยู่ ๒ ความหมาย คือ
๑. หมายถึง รูปที่ทำให้สามารถลิ้มชิมรสได้ นี้เป็นการแสดงโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม เพราะรูปธรรมทั้งหลาย เป็นอนารัมมณธรรม คือ สภาวธรรมที่ไม่สามารถรู้อารมณ์ใด ๆ ได้ เพียงแต่ว่า ชิวหาวิญญาณจิตและเจตสิกอาศัยชิวหาปสาทรูปเป็นวัตถุที่อาศัยเกิด และชิวหาทวารวิถีหรือชิวหาทวาริกจิตอาศัยชิวหาปสาทรูปเป็นทวารคือประตูเป็นช่องทางในการรับรู้รสารมณ์เท่านั้น
๒. หมายถึง รูปที่เป็นเหตุแห่งการลิ้มชิมรสของสัตว์ทั้งหลายนั้น นี้เป็นการแสดงโดยมุขยนัย คือ นัยโดยตรง เพราะชิวหาปสาทรูปเป็นที่อาศัยเกิดของชิวหาวิญญาณจิต ๒ ดวงและเจตสิกที่ประกอบ และเป็นทวารคือเป็นประตูหรือช่องทางในการรับรู้รสารมณ์ของชิวหาทวารวิถีหรือชิวหาทวาริกจิต
คำว่า ชิวฺหา แปลว่า เรียกรสต่าง ๆ มา เพื่อให้ชีวิตยืนยาว ดังจะเห็นได้จากพระพุทธภาษิตที่ว่า “สพฺเพ สตฺตา อาหารฏฺติกา ”รุ.๑๗๑ แปลความว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นอยู่ได้เพราะอาหาร อนึ่ง ในชีวิตความเป็นจริงของสัตว์ทั้งหลายที่ต้องบริโภคอาหารนั้น ถ้าบุคคลใดหรือสัตว์ตนใด ยังบริโภคอาหารและเครื่องดื่มได้อยู่เป็นปกติสม่ำเสมอตามความเหมาะสมของร่างกาย บุคคลนั้นหรือสัตว์ตนนั้น ย่อมมีชีวิตสืบต่อไปได้เป็นปกติ ถ้าบุคคลใดหรือสัตว์ตนใด บริโภคอาหารและเครื่องดื่มไม่ได้ตามปกติแล้ว ชีวิตและร่างกายของบุคคลนั้นหรือสัตว์ตนนั้น ย่อมจะมีอันทุพพลภาพหรือขาดสิ้นไป ทั้งนี้เพราะชีวิตของสัตว์เหล่านั้นเกี่ยวเนื่องอยู่ในรสนั่นเอง